สร้างอาชีพ เสริมชุมชน : ต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชุมชน โดย ดวงเนตร กรี่เงิน

ท้องถิ่นไทยในแต่ละพื้นที่มีเรื่องราวความเป็นมาที่ได้รับการถ่ายทอดบอกต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บางพื้นที่ปรากฏร่องรอยเป็นหลักฐานผ่านสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ที่พักอาศัย เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน บางพื้นที่สะท้อนเรื่องราวผ่านเทศกาลงานประเพณี การละเล่นของท้องถิ่น ภูมิปัญญา วิถีการดำเนินชีวิต ฯลฯ

การส่งเสริมให้ชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นรวมตัวกัน หรือริเริ่มนำสิ่งที่มีในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมตามเทศกาลงานประเพณีเพื่อเชิญชวนคนต่างพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตในท้องถิ่น หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสิ่งที่ท้องถิ่นมีเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ฯลฯ การส่งเสริมเหล่านี้ท้องถิ่นต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน บูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมทั้งชาวบ้านในท้องถิ่นเอง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่มีในพื้นที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้

การริเริ่มของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ได้บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ โดยจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเพื่อการจำหน่าย มีเป้าหมายส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์ทางศิลปวัฒนธรรมมาสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน ส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายด้วยการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ

นำร่องเปิดโครงการ-จัดกิจกรรมที่ชัยภูมิ ก่อนขยายสู่ 3 จังหวัด

“ชัยภูมิ หนึ่งในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ ที่มีทิวทัศน์สวย รวยป่าใหญ่ มีช้างหลาย ดอกไม้งาม ลือนามวีรบุรุษ สุดยอดผ้าไหม พระใหญ่ทวารวดี ดังคำขวัญของจังหวัด และชัยภูมิยังอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวอารยธรรมขอม ถือเป็นความโดดเด่นและเป็นจุดขายที่สำคัญของจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเพื่อการจำหน่าย มุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของแต่ละจังหวัด”

นายทวีศักดิ์ เจือจารย์ วัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ กล่าวถึงศักยภาพของจังหวัดชัยภูมิซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องในการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเพื่อการจำหน่าย โดยจังหวัดชัยภูมิกำหนดพัฒนากลุ่มศิลปินพื้นบ้านด้านดนตรี (อีเต็ง) ขณะที่จังหวัดนครราชสีมาจะพัฒนายอดผลิตภัณฑ์ดินด่านเกวียน จังหวัดบุรีรัมย์พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ผ้า และจังหวัดสุรินทร์พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไหม กิจกรรมนี้จัดให้ชาวบ้านผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้ที่จำเป็นต่อการนำไปใช้เชิงธุรกิจ และได้ฝึกปฏิบัติเพื่อผลิต ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวสำหรับชุมชนหรือกลุ่มของตนเอง

“รายได้จากการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนำเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทยปีหนึ่งๆ เป็นมูลค่ามหาศาล ทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะพัฒนาต่อยอดให้เชื่อมโยงเข้าถึงกัน

การนำภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษปู่ย่าตายายเราคิดขึ้นมา และเกิดประโยชน์กับคนกับชุมชน สิ่งที่บรรพบุรุษเราได้สร้างทำไว้ เราซึ่งเป็นคนรุ่นหลังควรจะรักษาไว้

และเราคงไม่ได้จบภารกิจแค่การรักษา แต่เราจะต่อยอดนำสิ่งที่บรรพบุรุษเราคิดค้นสร้างทำไว้ แล้วเราจะดูแลรักษาไว้อย่างไร ที่สำคัญเราจะนำภูมิปัญญาเหล่านี้ใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติบ้านเมืองอย่างไร เพราะการพัฒนาต่อยอดไปเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว คำตอบก็คือ เพื่อให้คนต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวบ้านเรามาเยี่ยมเยียนประเทศไทยได้เห็นว่าคนไทยเรามีวัฒนธรรมที่สูงส่งมาแต่โบราณกาล ให้นักท่องเที่ยวได้ภาคภูมิใจร่วมกับเราว่าเราสามารถสืบสานและต่อยอดวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สั่งสมไว้ และเราก็อนุรักษ์สืบสานไว้มาได้ทุกวันนี้ และในที่สุดทำให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมวัฒนธรรมของเรา

ทุนวัฒนธรรมที่เรามี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนต่างชาติที่เข้ามาในบ้านเราประทับใจคือ ความมีน้ำใจไมตรี ความเอื้ออารี แม้เขาจะเป็นคนต่างชาติพอเข้ามาอยู่บ้านเรา เขามีความรู้สึกอบอุ่น เพราะอัธยาศัยไมตรีของคนไทย การที่คนไทยต้อนรับก็เป็นสิ่งที่เขาอยากจะกลับมาอีก เวลากลับไปเขาก็ไปเล่าสู่กันฟังว่ามาเที่ยวเมืองไทยแล้วเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดีงาม เช่นเดียวกับเรื่องวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมา คนรุ่นเราต้องรักษาสืบสานต่อยอด เพื่อที่จะได้ภาคภูมิใจว่า เรามีความเป็นมาที่ยาวนาน มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่บรรพกาล และคนรุ่นเก่ายังรักษาสืบสานเอาไว้ได้ และที่สำคัญใครมาก็มีโอกาสชื่นชม

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ประธานพิธีเปิดโครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ณ ห้องไหมทอง สหการณ์การเกษตรบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ

นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์ ขานรับจัดกิจกรรมพร้อมกัน

หลังจากการจัดกิจกรรมที่จังหวัดชัยภูมิเปิดโครงการนำร่องไปแล้ว ผ่านไปไม่นานกิจกรรมนี้ก็ได้รับการจัดขึ้นใน 3 จังหวัดพร้อมกัน นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์ ซึ่งผลจากการเรียนรู้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเป็นผลิตภัณฑ์เชิงการท่องเที่ยว ทำให้เห็นถึงความตั้งใจของชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมกับความพยายามในการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ

นครราชสีมา…พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ดินด่านเกวียน

นครราชสีมากำหนดพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ดินด่านเกวียนเป็นเครื่องปั้นดินเผาสำหรับใส่ของอเนกประสงค์ หรือปลูกต้นไม้รากสั้น โดยดึงความโดดเด่นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาแสดงออกในผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งชาวบ้านที่เข้าอบรมมีความถนัดแตกต่างกัน บางรายถนัดด้านการปั้น บางรายถนัดทำผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็ก บางรายถนัดทำผลิตภัณฑ์ของใช้และตกแต่งบ้าน ฯลฯ การออกแบบงานปั้นโดยทั่วไปจะมีรูปทรงและโครงสร้างหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับชนิดของรูปทรงที่จะนำมาใช้ในการออกแบบเครื่องปั้นดินเผาให้ได้ลักษณะที่เหมาะสมกลมกลืนกับการนำไปใช้และความสวยงาม เช่น แบบที่มีลักษณะเหมือนธรรมชาติ มีรูปทรงหลายเหลี่ยมและรูปทรงอิสระ การออกแบบการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักเลือกใช้ลักษณะรูปทรงต่างๆ ในการสร้างสรรค์งานด้วยการออกแบบที่ดี สวยงาม มีความทนทาน มีประโยชน์ใช้สอย ไม่เป็นอันตราย และมีราคาเหมาะสม ซึ่งจะเป็นสิ่งจูงใจผู้ซื้อให้เกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์นั้นๆ

นกฮูกโอบปีก งานปั้นดินด่านเกวียน ผลงานผู้เข้าอบรมจังหวัดนครราชสีมา จากนกฮูกขนาดใหญ่ที่ทำอยู่เป็นประจำ ปรับเปลี่ยนรูปทรงให้มีขนาดเล็กลง  ปรับท่วงท่าใหม่ให้ทุกสัมผัสอบอุ่น ด้วยปีกทั้งสองข้าง

เขียดเกาะขอนไม้ งานปั้นดินด่านเกวียน ผลงานผู้เข้าอบรมจังหวัดนครราชสีมา  ที่จับลีลาของเขียดน้อยมานั่งบนขอนไม้ เพิ่มประโยชน์การใช้งาน  ด้วยช่องว่างสร้างพื้นที่ปลูกต้นไม้เล็กๆ หรือใช้เป็นที่เสียบดินสอ ปากกา ก็น่ารักดี

ชัยภูมิ พัฒนาต่อยอดจากพิณ (อีเต็ง) ทำ “พิณจิ๋ว”จากไม้ทำพิณ

พิณ…เครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทเครื่องสายที่ชาวบ้านในภาคอีสานใช้สร้างความบันเทิง เพื่อความรื่นเริงในชีวิต รวมทั้งเป็นเครื่องประกอบการแสดงในงานประเพณีต่างๆ พิณจึงเป็นภูมิปัญญาของแต่ละพื้นที่ที่ชาวบ้านสืบทอดและถ่ายทอดเรื่องราวความรู้ การละเล่น และการแสดงต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งที่จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งพิณของที่นี่ถูกเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “อีเต็ง” โดยหนึ่งในแหล่งผลิตพิณ (อีเต็ง) ของจังหวัดชัยภูมิคือ ศูนย์ภูมิปัญญาไทยชัยภูมิ การผลิตพิณแต่ละเต้าจากไม้ขนุน ไม้ประดู่ ฯลฯ ทำให้มีเศษไม้เหลือกองทิ้งไว้ จึงคิดนำเศษไม้ที่เหลือมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชัยภูมิ ออกแบบสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกในรูปแบบ พิณจิ๋วจากไม้ทำพิณ

พิณจิ๋ว ทำยากหรือไม่ หากดูจากการทำงานของน้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดชัยภูมิที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ตอบได้เลยว่า “ไม่ยาก” ยิ่งเด็กๆ มีจินตนาการเกี่ยวกับพิณ มีทักษะในการวาดและระบายสี ประกอบกับมีทีมช่างของศูนย์ภูมิปัญญาไทยชัยภูมิช่วยหยิบจับใช้เครื่องมือช่างต่างๆ การทำงานยิ่งง่ายขึ้น ใช้เวลาไม่นานเศษไม้ที่เหลือจากการทำพิณก็กลายเป็นพิณจิ๋วที่มีรูปร่างและสีสันแตกต่างกันไปตามจินตนาการ

พิณจิ๋ว งานทำเครื่องดนตรีของจังหวัดชัยภูมิ พิณ (อีเต็ง)  มีไม้ประดู่ ไม้ขนุน ที่เหลือจากการขึ้นรูปพิณ นำไม้มาเลื่อยเป็นแผ่นความหนาตามชอบ ออกแบบ วาดภาพพิณจากจินตนาการ เลื่อย ตัดแต่ง ขัดผิวไม้ ลงสี พิณจิ๋วจากไม้มงคล…พร้อมส่งมอบให้ทุกคน

นายไพบูลย์ แย้มกสิกร นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ได้ให้ข้อมูลว่า “อีเต็งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดชัยภูมิที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์เชิงการท่องเที่ยว ผลงานจากนักเรียนที่เข้าอบรมและได้พัฒนาจากการปฏิบัติจริง คือการเรียนรู้ในหลักการ อยากฝากทุกคนที่มารับความรู้ภายใต้โครงการนี้ ได้นำไปพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เชิงการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิ เพราะการท่องเที่ยวหนีไม่พ้นเรื่องของฝาก ของที่ระลึก เวลาไปเที่ยวที่ไหนก็ต้องมีของที่ระลึกไปฝากเพื่อนๆ หรือญาติพี่น้อง ตรงนี้เป็นจุดสำคัญในการพัฒนาการจำหน่ายสินค้าของเรารูปแบบอัตลักษณ์ของพิณจิ๋ว ส่วนพิณตัวจริง ที่นี่ศูนย์ภูมิปัญญาไทยชัยภูมิคือแหล่งผลิต โดยอ.โสโชค สู้โนนตาด หากสนใจก็สามารถมาเรียนได้ เพราะการเล่นพิณสามารถสร้างรายได้ให้ผู้เล่นได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และยังเป็นความสามารถพิเศษเฉพาะตัวที่นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับตนเองได้”

บุรีรัมย์ ต่อยอดอัตลักษณ์ผ้าไหม/ผ้าซิ่นตีนแดง เป็น “หมอนรองหลัง” และ “ตุ๊กตาหมีผ้าไหม”

การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ผ้า (ผ้าไหม/ผ้าซิ่นตีนแดง) สำหรับจังหวัดบุรีรัมย์ ชาวบ้านที่เข้าอบรมต้องการผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กสำหรับจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว เพราะผ้าไหมส่วนใหญ่จำหน่ายในรูปผ้าผืน ผลงานที่ออกมาจากการประสานความคิดระหว่างวิทยากรและผู้เข้าอบรม รวมถึงศักยภาพความถนัดในการตัดเย็บของชาวบ้าน อัตลักษณ์ผ้า (ผ้าไหม/ผ้าซิ่นตีนแดง) จากผ้าที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้แล้ว จึงแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบ หมอนรองหลัง และตุ๊กตาหมีผ้าไหม

ตุ๊กตาหมีผ้าไหม งานผ้าสร้างสรรค์เป็นอะไรก็ได้ตามใจชอบ ทั้งของใช้ ของที่ระลึก ผ้าไหม หรือผ้าที่เหลือจากการใช้งานแล้ว นำมาออกแบบ ตัดเย็บตามแพทเทิร์น เย็บด้วยมือ ใส่นุ่นหรือวัสดุอื่นให้เป็นรูปทรง เศษผ้าที่มีอยู่ก็กลายเป็นของที่ระลึกได้

หมอนรองหลัง จากผ้าซิ่น ผ้าผืน หรือเศษผ้าที่ไม่ได้ใช้ คัดเลือกผ้าให้ได้ขนาดตามต้องการ วางบนแพทเทิร์น ตัดตามแบบ เย็บด้วยมือ ใส่นุ่นให้เป็นรูปทรง ทุกขนาดรองรับทุกความต้องการใช้งาน ทั้งหมอนรองนั่งหรือหมอนรองหลัง

สุรินทร์ พัฒนาต่อยอดผ้าไหม จากผ้าผืนเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว

การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสำหรับผู้เข้าอบรม-ชาวบ้านตำบลสวาย จากการประสานการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลสวาย และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสุรินทร์ ทราบว่าชาวบ้านต้องการผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ สำหรับจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นผ้าผืน วิทยากรจึงเลือกที่จะให้ชาวบ้านฝึกปฏิบัติทำกระเป๋าผ้าใส่ของอเนกประสงค์ และพวงกุญแจดอกทิวลิปผ้าไหม โดยใช้เศษผ้าไหมหรือเศษผ้าที่ชาวบ้านไม่ได้ใช้แล้วประกอบกับความรู้ในงานฝีมือ การตัดเย็บ และการประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่ในครัวเรือนของชาวบ้านในการทำงาน

จากการฝึกทำดอกทิวลิปผ้าไหม นอกจากทำเป็นพวงกุญแจแล้ว ชาวบ้านยังพัฒนาต่อยอดประยุกต์ดอกทิวลิปผ้าไหม เป็นพวงมาลัย ต่างหู รวมทั้งหาช่องทางนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาแล้วทดลองขายในงานต่างๆ ด้วย

พวงกุญแจดอกทิวลิป งานผ้าสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ จากเศษผ้าชิ้นเล็กๆ ที่คิดว่าจะไม่ใช้แล้ว นำมาตัดตามแบบ เย็บตามแนว ใส่ใยโพลีเอสเตอร์ จัดรูปทรงให้เป็นดอกทิวลิป ตกแต่งด้วยวัสดุหลากหลายที่หาได้ จัดเป็นพวงให้สวยงาม ใช้งานได้หลายรูปแบบ

ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาต่อยอด ต้องสร้างโอกาสในการขาย

โอกาสในการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หน่วยงานภาครัฐจัดให้ชาวบ้านหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ นั้น หากผู้ที่มีโอกาสเข้ารับการอบรมจะเข้ามาเพื่อรับรู้หรือเรียนรู้ในสิ่งที่วิทยากรถ่ายทอด สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็อาจหยุดลงแค่ตรงนั้น แต่หากเรียนรู้แล้วนำไปพัฒนาต่อยอดก็จะช่วยเพิ่มสิ่งใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากพื้นฐานความต้องการและศักยภาพที่ชาวบ้านผู้เข้าอบรมมีอยู่ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นแม้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ แต่ก็นับว่ามีส่วนช่วยสร้างโอกาสให้กับชาวบ้านในแต่ละชุมชนที่เข้าอบรมได้ โดยเฉพาะการคิดจะทำสิ่งใดๆ ด้วยทักษะความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของชาวบ้านนั้นเป็นทุนที่จำเป็นมาก เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จสำหรับการคิดริเริ่มหรือทำอะไรใหม่ๆ และทุนที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับชาวบ้านสวาย จังหวัดสุรินทร์ก็คือ ความเข้มแข็งของหน่วยงานในท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลสวาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่สนับสนุนให้ชาวบ้านระดับผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กำนัน เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้สมาชิกลูกบ้าน และการสนับสนุนหาช่องทางการขายเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีโอกาสในการขาย หรือการทดลองตลาดเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น

การส่งเสริมให้ชาวบ้านชุมชนต่างๆ นำทุนในท้องถิ่นตลอดจนผลงานและผลิตภัณฑ์ทางศิลปวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เป็นโอกาสในการยกระดับการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ซึ่งในอีกหลายพื้นที่ หลายชุมชนทั่วท้องถิ่นไทย ยังมีต้นทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ที่หากชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานความร่วมมือในการนำทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่ มาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ตามศักยภาพที่ชุมชนสามารถทำได้ และผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาสามารถนำเสนอตัวเองบนสื่อออนไลน์หรือช่องทางอื่นๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจตลอดจนกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สามารถค้นหาและเข้าถึงได้อย่างสะดวก จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการขายผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน