ชป.เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง

กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่ชาวบ้านในเขตอำเภอเมือง จังหวัดตรัง ได้รับความเดือดร้อนน้ำท่วมจากโครงการขุดคลองผันน้ำแม่น้ำตรัง เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาโดยด่วนแล้ว

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรณีนางประไพพิศ สิงหเสม และคณะ ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตร โดยแจ้งว่าได้รับผลกระทบจากการขุดคลองระบายน้ำ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง นั้น กรมชลประทาน ไม่ได้นิ่งนอนใจในปัญหาที่เกิดขึ้น ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าจุดที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่ห่างจากแนวคลองผันน้ำประมาณ 500 เมตร ซึ่งสภาพเดิมบริเวณดังกล่าวจะมีร่องน้ำธรรมชาติ สามารถใช้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ อีกทั้ง การดำเนินการก่อสร้างคลองผันน้ำ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ได้มีการก่อสร้างอาคารรับน้ำ เพื่อใช้รับน้ำเข้าคลองระบายน้ำไว้ด้วยแล้ว แต่เนื่องจากปัจจุบันเจ้าของที่ดินที่มีเขตติดต่อกับคลองระบายน้ำและอาคารรับน้ำ ได้ทำการถมที่ดินของตนเอง เป็นเหตุให้ไม่สามารถระบายน้ำจากในพื้นที่ลงสู่อาคารรับน้ำได้ จนเป็นเหตุให้เกิดการท่วมขังในพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้ จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 ได้มีหนังสือแจ้งไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตรุด เพื่อหารือร่วมกับราษฎรในพื้นที่ที่ รวมทั้งราษฎรเจ้าของที่ดินที่มีการถมที่ดินของตนเอง เพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขโดยด่วนในระยะต่อไป ความคืบหน้าจะได้แจ้งให้ทราบโดยทั่วกันอีกครั้ง

สำหรับโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จังหวัดตรัง เป็นโครงการที่กรมชลประทาน ดำเนินการขุดคลองผันน้ำ(หนองตรุด – คลองช้าง) เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำตรังบริเวณอำเภอเมืองตรัง โดยการขุดคลองผันน้ำจะเริ่มตั้งแต่บ้านหนองตรุด หมู่ที่ 1 (ประมาณ กม.ที่ 31+000 ของแม่น้ำตรัง) ไปสิ้นสุดที่บ้านคลองช้าง หมู่ที่ 4 ตำบลบางรัก (ประมาณ กม.ที่ 15+000 ของแม่น้ำตรัง) อำเภอเมืองตรัง ความยาวประมาณ 7.55 กิโลเมตร คลองกว้างของคลองประมาณ 102 เมตร มีความลึกประมาณ 4.50 เมตร ถนนบนคันคลองกว้าง 9 เมตร มีศักยภาพในการระบายน้ำ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) นอกจากนี้ ยังได้มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ 2 แห่ง สะพานรถยนต์ 6 แห่ง และอาคารรับน้ำเข้าคลองระบายน้ำอีก 20 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยจากการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำตรังได้ ที่สำคัญจะช่วยเร่งระบายน้ำออกสู่ปากแม่น้ำตรังลงสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้น

******************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์