ไทยดึงจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอิสราเอล ช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรสู่ประเทศไทย 4.0

กระทรวงพาณิชย์นำคณะเยือนอิสราเอล แสวงหาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทยสู่ประเทศไทย 4.0

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ณ อิสราเอล โดยได้ประชุมร่วมกับนายโอฮาด โคเฮ็น ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมรัฐอิสราเอล ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้หารือเรื่องการขยายการค้าและการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 และเนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะร่วมมือกับอิสราเอลนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของไทย

นอกจากนี้ ยังได้หารือเรื่องความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งอิสราเอลประสงค์จะเชิญไทยเข้าร่วมงานแสดงนวัตกรรมและสัมมนาด้านความมั่งคงของประเทศ (HLS & Cyber 2018) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 – 15 พฤศจิกายน 2561 ณ อิสราเอล และไทยจะได้เชิญอิสราเอลเข้าร่วมงาน Digital Thailand Big Bang ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 19 – 23 กันยายน 2561 ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญชวนให้อิสราเอลเข้ามาลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ในสาขาที่อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญ เช่น การแพทย์ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น

นางนันทวัลย์ เสริมว่า อิสราเอลอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการเปิดตลาดและพิจารณากระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชให้กับสินค้าลำไยของไทย ขณะที่อิสราเอลสนใจส่งออกทับทิมมาไทย และได้แสดงความสนใจที่จะนำเข้าสับปะรดจากไทยเพราะเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวอิสราเอล ซึ่งรู้จักสับปะรดไทยจากการเดินทางมาเที่ยว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้เชิญชวนให้ชาวอิสราเอลเดินทางมาเที่ยวไทยมากขึ้น ผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยววิถีไทย เป็นต้น โดยปัจจุบัน นักท่องเที่ยวอิสราเอลเดินทางมาประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ปีละกว่า 170,000 คน

ปัจจุบัน อิสราเอลเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้า สำคัญลำดับที่ 19 ของอิสราเอลในตลาดโลก หรือลำดับ 1 ในอาเซียน (ตามด้วยสิงคโปร์และเวียดนาม ตามลำดับ)
ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,301.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.74 จากปี 2559 สินค้าที่ไทยมีศักยภาพ ในอิสราเอล ได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าข้าว อาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ ของประดับบ้าน และสาขาที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน ได้แก่
ธุรกิจ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร การผลิตอาหารโครเชอร์