รมช.สาธิต เร่งสร้างความเข้าใจสิทธิการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองในวาระสุดท้าย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และนิทรรศการวันดูแลผู้ป่วยประคับประคองและระยะท้ายสากล ปี 2562 สร้างความเข้าใจประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  ในสิทธิการรักษาแบบประคับประคองตามเจตนาของผู้ป่วย ลดความทุกข์ทรมานในวาระสุดท้าย

วันที่ 11 ตุลาคม 2562 ที่ โรงพยาบาลราชวิถี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง เปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้และนิทรรศการวันดูแลผู้ป่วยประคับประคองและระยะท้ายสากล ปี 2562 (World Hospice and Palliative Care Day 2019) ในประเด็น Palliative Care : it’s “My care, My Right” : วาระสุดท้ายของชีวิต  สิทธิที่เลือกได้ จัดโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและบริการ มีผู้บริหาร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เครือข่ายภาคประชาชน และผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เข้าร่วมประชุม จำนวน 400 คน

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้จัดให้มีบริการดูแลแบบประคับประคองภายใต้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งด้านยาและอุปกรณ์การแพทย์  วางแผนการดูแลล่วงหน้า ร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว ทีมผู้ให้การรักษา โดยผู้ป่วยสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธรับบริการสาธารณสุขที่เพียงเพื่อยื้อความตายในวาระสุดท้าย ลดความทุกข์ทรมาน และทีมผู้ให้การรักษาต้องสร้างความมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามเจตนาเมื่อผู้ป่วยอยู่ในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิต จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เข้าใจเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย ซึ่งตามมติองค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2557 กำหนดเป็นบริการสุขภาพที่ให้ความสำคัญ มีการติดตามการดำเนินงาน โดยในปีพศ. 2558 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับการดูแลประคับประคองโดย The Economist อยู่ในอันดับที่ 44 ของโลก และอันดับที่ 7 ของเอเชีย

ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้พัฒนาระบบบริการแบบประคับประคองและระยะท้ายของประเทศ โดยประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์การุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น  เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยามอร์ฟีน ยามาตรฐานและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และร่วมกับเครือข่ายทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ จัดทำข้อมูลช่องทางการติดต่อสื่อสารกับหน่วยบริการแบบประคับประคองของประเทศ เป็นการสร้างเครือข่ายการส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ พร้อมรับการติดตามตรวจประเมินขององค์การอนามัยโลก

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย นิทรรศการระบบบริการสุขภาพ กิจกรรมเขียนความต้องการครั้งสุดท้ายหากฉันต้องจากไปผ่าน “สมุดเบาใจ” กิจกรรมเกมส์ไพ่ชีวิต การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากวิทยากรทรงคุณวุฒิ และเผยแพร่ข้อมูลช่องทางการติดต่อกับหน่วยบริการแบบประคับประคองของประเทศไทย

………………………………………………