สธ.เผยโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2562

กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์ ขยายผลดำเนินการช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาลภูมิภาค 60 แห่ง 55 จังหวัด ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยปี 2562 ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น

ดร.สาธิต ปิตุเดชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะผลักดันพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข ส่งเสริมนวัตกรรมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทั้งการสร้างเสริมสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การศึกษาวิจัย การผลิตและพัฒนากําลังคน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ดูแลประชาชนให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดความเหลื่อมล้ำ ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ เด็ก และประชาชนทั่วไป ดังนั้น  กระทรวงสาธารณสุขน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการแก่ผู้ป่วย  กรมการแพทย์โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจึงได้จัดทำโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี ซึ่งในปี 2558 ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ  First Place UN Public Service Award 2015 จากองค์การสหประชาชาติ และในปีนี้ได้รับรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยเป็นรางวัลระดับดีเด่น สาขาบริการภาครัฐ ประเภทขยายผลมาตรฐานการบริการ ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนอย่างเป็นเลิศ

นายแพทย์สมศักดิ์  อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจัดทำขึ้นเพื่อให้เด็กป่วยเรื้อรังที่ขาดโอกาสทางการศึกษาได้มีโอกาสเรียน และเรียนได้ทันเพื่อนเมื่อออกจากโรงพยาบาลโดยใช้ไอทีเป็นสื่อในการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กเพลิดเพลินและลดความวิตกกังวลจากอาการเจ็บป่วย โดยเป็นการทำงานแบบบูรณาการของ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วยให้เด็กที่เจ็บป่วยในโรงพยาบาลมีโอกาสได้รับการศึกษาต่อเนื่อง โดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยในการพัฒนา เช่น การเรียนการสอนโดยใช้สื่อคอมพิวเตอร์  สื่อการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ทางไกลผ่านดาวเทียม DVD แบบพกพาให้เด็กป่วยสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และใช้ E-Mail, Facebook ในการส่งการบ้าน เป็นต้น โดยมีหลักสูตรที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยม และวิชาชีพ ทำให้เด็กป่วยสามารถเข้าถึงระบบได้ทั้งแบบ on line และoff line ได้ตามต้องการ โดยเด็กป่วยที่อยู่ในระบบการศึกษาจะมีครูที่โรงพยาบาลแจ้งโรงเรียนเพื่อขอให้เด็กเข้าเรียนตามปกติหลังจากออกโรงพยาบาล ขณะที่เด็กป่วยที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาและเด็กที่ได้รับการศึกษามาบ้างจะมีครูที่โรงพยาบาลช่วยสอนหนังสือและประสานส่งเด็กเรียน กศน. ปัจจุบันโครงการฯ มีผลการดำเนินการขยายเครือข่ายไปสู่โรงพยาบาลในภูมิภาคต่าง ๆ รวม 60 แห่งใน 55 จังหวัด

#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี #รางวัลเลิศรัฐ #โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเด็กป่วย