ปส. ร่วม IAEA และ RCARO ติวเทคนิคตรวจประเมินรังสี พร้อมรับมือเหตุนิวเคลียร์-รังสี ยกระดับความปลอดภัยในภูมิภาค

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ประธานเครือข่ายหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน  หรือ ASEANTOM ปี 2562 เป็นเจ้าภาพจัดอบรมตรวจ-ประเมินปริมาณรังสี เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉิน ในวันที่ 7 – 11 ตุลาคม 2562 ณ ปส. พร้อมดึงทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ฝึกเทคนิคการใช้เครื่องวัดรังสีให้ไทยและอาเซียน 10 ประเทศ กว่า 30 คน รุกสร้างความพร้อมตอบสนองเหตุฉุกเฉินนิวเคลียร์-รังสี มุ่งยกระดับความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 7 ตุลาคม 2562 นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดการฝึกอบรมระดับภูมิภาค “IAEA-RCARO-ASEANTOM Regional Training Course Rapid Radiation Measurement and Individual Dose Assessment following Nuclear and Radiological Emergency” ซึ่งจัดร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ (Regional Cooperative Agreement Regional Office : RCARO) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจในการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีและประเมินปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมและประชาชน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี รวมถึงวิธีปฏิบัติและฝึกใช้เครื่องมือตรวจวัดรังสีให้แก่หน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้พลังงานนิวเคลียร์จากประเทศอาเซียน และญี่ปุ่น นอกจากนี้มีบุคลากรไทยจากหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) และ ปส.

นางสาววิไลวรรณ กล่าวต่อไปว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้วิธีการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับประเมินปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อมและประชาชนเพื่อช่วยให้การป้องกันและลดผลกระทบทางรังสีที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยจากอาเซียนได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังนับเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือที่ดีระหว่าง ASEANTOM กับ RCARO รวมทั้งสนับสนุนเครือข่ายความร่วมมือด้านเทคนิคร่วมกับ IAEA คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) และโครงการ RCA อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะช่วยต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อรับมือกับทุกสภาวการณ์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์-รังสีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีมาตรฐานและนำมาซึ่งความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนและสิ่งแวดล้อม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มความร่วมมือและประสานงานระหว่างประเทศ โทร 0 2596 7600 ต่อ 4104