กรม สบส. จับมือภาคเอกชน พัฒนาการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ ให้เพียงพอพร้อมใช้ ปลอดภัย และมีมาตรฐานสู่สากล

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จับมือภาคเอกชน พัฒนามาตรฐานบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์แห่งชาติ ในการจัดทำมาตรฐานวิธีการตรวจสอบ บำรุงรักษาหรือ กระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานเครื่องมือแพทย์ และเสริมสร้างขีดความสามารถของการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า มาตรฐานของเครื่องมือแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย เฝ้าระวัง รักษา เช่น เครื่องมือตรวจทางห้องปฏิบัติการ เครื่องมือในห้องบริการทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต้องเที่ยงตรง แม่นยำ แนวโน้มเครื่องมือเหล่านี้เริ่มใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงได้วางระบบความพร้อมการดูแลมาตรฐานเครื่องมือเหล่านี้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้บริการทุกคน จึงได้ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้ โครงการพัฒนามาตรฐานบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์แห่งชาติ ระหว่าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด หรือ RFS (บริษัทในเครือมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งจัดตั้งและถือหุ้นโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) และ ECRI Institute (Asia Pacific Regional office) องค์กรระดับโลกที่นำผลการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ในการพัฒนามาตรฐานในด้านเครื่องมือแพทย์ ได้ร่วมกันในการพัฒนางานและลงพื้นที่วิจัยการบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาล เพื่อให้การบริหารจัดการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นระบบมีมาตรฐาน มีความเพียงพอต่อการใช้งาน มีการดูแลบำรุงรักษา และการจัดเก็บให้พร้อมใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีการตรวจสอบ ทดสอบ สอบเทียบตามแผนประจำปี สามารถรับประกันความปลอดภัยเครื่องมือแพทย์ก่อนให้บริการแก่ประชาชน ทั้งยังสามารถลดปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ แถมยังช่วยประหยัดงบประมาณด้านการจัดซื้อ และได้เครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่าต่อราคา เพื่อให้ระบบการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์มีแนวทางการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับสู่สากล

นายแพทย์ภานุวัฒน์ กล่าวต่อว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โดยกองวิศวกรรมการแพทย์ ร่วมกับบริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด RFS (บริษัทในเครือมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งจัดตั้งและถือหุ้นโดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) และ ECRI Institute (Asia Pacific Regional office) ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลรูปแบบการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี, โรงพยาบาลดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี, โรงพยาบาลภูมิพลอดุยเดช กรุงเทพฯ, สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี, โรงพยาบาลพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ และโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ โดยการเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 2 แบบ คือ   1. การสัมภาษณ์ผู้บริหารโรงพยาบาล ผู้ใช้เครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล และผู้ดูแลบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล 2. การลงพื้นที่ดูหน้างานในแผนก ER ICU และศูนย์เครื่องมือแพทย์ โดยนำมาประชุมหารือแนวทางยกร่างการพัฒนามาตรฐานบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์แห่งชาติ ที่เหมาะสมกับประเทศไทย และนำไปสู่การใช้งานของสถานบริการสุขภาพภาครัฐ และภาคเอกชน ให้มีความเข้มแข็งเป็นไปตามหลักวิชาการ เป็นรากฐานในการสร้างมาตรฐานวงการเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กลุ่มมาตรฐานด้านวิศวกรรมการแพทย์ และสาธารณสุข 2 (มาตรฐานวิศวกรรมชีวการแพทย์) กองวิศวกรรมการแพทย์ จึงได้ส่งทีมไปศึกษาดูงาน ณ ECRI Institute (Asia Pacific Regional office) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และบริษัท อาร์เอฟเอส จำกัด รวมทั้งหมด 7 คน ซึ่งเป็นการไปเรียนรู้จากของจริง หลังจากได้ศึกษาการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในสถานบริการสุขภาพภาครัฐ ผนวกกับการศึกษาทฤษฎีมาตรฐานในระดับสากลที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการเรียนรู้ จากการสังเกตการณ์ และรับทราบประเด็นปลีกย่อยเพิ่มเติม ในการปฏิบัติงาน รวมถึงประเด็นปัญหาผ่านประสบการณ์ผู้ที่เคยปฏิบัติมาแล้ว อะไรบ้างที่ต้องระวัง สามารถนำมาริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ก่อให้เกิดความคิดในการต่อยอดจากของเดิม เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างมาตรฐานบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์แห่งชาติ ตามวัตถุประสงค์ของสถานบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานในการให้บริการ และมีมาตรฐานทัดเทียมนานาชาติต่อไป