กรมชลฯ เตรียมแนวรบรับฝนลงใต้ ทำเกณฑ์บริหารน้ำแบบไดนามิค หลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ชี้เป้าฝนลงใต้ทำ 12 จ. เสี่ยงท่วม

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 20/2562 ว่าที่ประชุมได้หารือเพื่อวางแผนในการบริหารน้ำและบริหารสถานการณ์ ตามคำสั่งของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่ได้สั่งการ เพื่อให้ได้มาตรการเชิงรุกสำหรับการรับมืออุทกภัยในฤดูฝนของภาคใต้ช่วงเดือน ตุลาคม ซึ่งกองอำนายการชี้เป้าไว้ ว่าในเดือน ตุลาคม 2562 มี 12 จังหวัดทั้งภาคใต้ และภาคตะวันออกที่ต้องเฝ้าระวังถึงเดือน พฤศจิกายน 2562

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติ ให้หน่วยงานดำเนินการประกอบด้วย การทำเกณฑ์บริหารน้ำแบบไดนามิค ที่กรมชลประทานได้มีการทำขึ้นในสมัย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ออกแบบกันไว้ คือ การบริหารน้ำในอ่างจะเป็นไปตามพลวัตร เช่น การระบายน้ำออกต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้า การทำเกณฑ์บริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ แก่งกระจาน และนฤบดินทร์จินดา เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำกักเก็บมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ในภาคตะวันออก ภาคตะวันตกและภาคใต้ รวมถึงการทำผังแจ้งเตือนน้ำในแม่น้ำสายหลัก 18 สาย 12 จังหวัด อาทิ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำตาปี เป็นต้น ทั้งหมดให้รายงานในวันที่ 7 ตุลาคม นี้

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติร่วมกันในการทำเกณฑ์แจ้งเตือน เพื่อให้ไปในทางเดียวกันและกำหนดสีของการแจ้งเตือนภัยในชุดเดียวกัน ได้แก่ สีเขียวสถานะปกติ สีส้มสถานะเฝ้าระวัง และสีแดงสถานะอันตราย จากที่ก่อนหน้าหลายหน่วยงานใช้สีในการแจ้งเตือนภัยต่างกัน จึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อการเฝ้าระวังต่อไป

“ทั้งนี้ กรมชลฯ ได้สั่งการให้สำนักเครื่องจักรกล เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ สะพานแบริ่ง และรถบรรทุก พร้อมในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดูแลอ่างเก็บน้ำในพื้นที่” รองอธิบดีกรมชลฯกล่าว

โดยพื้นที่ตอนล่างของประเทศไทย ซึ่งในเดือน ตุลาคม 2562 มีจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมหรือน้ำล้นตลิ่ง 12 จังหวัด51 อำเภอ 18 แม่น้ำ ประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี จันทรบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง พังงา กระบี่ และตรัง  ส่วนในเดือน พฤศจิกายน 2562 มีจุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมหรือน้ำล้นตลิ่ง 8 จังหวัด 44 อำเภอ 16 แม่น้ำ ประกอบด้วยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง นราธิวาส สงขลา และพัทลุง

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน(2 ต.ค. 62) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 50,842 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุเก็บกักรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้25,913 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 25,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,217 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 5,521 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับปริมาณน้ำตลอดในช่วงฤดูฝนนี้ได้รวมกันอีกกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม.

*********************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

2 ตุลาคม 2562