บกปภ.ช. สั่งการจังหวัด และ กทม. บูรณาการแผนงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) สั่งการจังหวัดและกรุงเทพมหานคร บูรณาการแผนงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่  เน้นการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ วางแนวทางการบริหารจัดการสาธารณภัยและแผนเผชิญเหตุในพื้นที่ พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง กำชับมาตรการลดผลกระทบจากฝุ่นละอองในระยะเร่งด่วน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

1 ต.ค.62 กรุงเทพมหานคร : พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษรายงานปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เฉลี่ย 24 ชม.ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีค่าระหว่าง 37 – 76 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีแนวโน้มลดลงจากช่วงก่อนหน้า และคุณภาพอากาศในบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์ดังกล่าว ได้ประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.62 และมีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมและบูรณาการแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)  จึงได้สั่งการให้จังหวัดและกรุงเทพมหานคร บูรณาการแผนงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในระยะเร่งด่วน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ดังนี้ 1) การติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ฝุ่นละออง โดยประสานตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษและสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น 2) การบริหารจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยึดพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 เป็นกรอบในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ร่วมกับกฎหมาย และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณีเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบัญชาการสถานการณ์ตามลำดับขั้นตอน กำชับและสั่งการไปยังอำเภอ ท้องที่ และท้องถิ่น ให้บูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศดังกล่าว เพื่อเป็นการดูแลประชาชนให้ดีที่สุด ตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 3) การประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชน ให้เร่งสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแก่ประชาชน เพื่อป้องกันการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและลดความตื่นตระหนก รวมถึงแจ้งเตือนและให้คำแนะนำข้อปฏิบัติตนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้และป่วย ผ่านสื่อท้องถิ่น หอกระจายข่าว และช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 4) การบูรณาการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ ให้จังหวัดระดมสรรพกำลังและทรัพยากรทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เครือข่ายอาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ ร่วมดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ โดยแบ่งมอบภารกิจและพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชัดเจน รวมถึงให้จัดเตรียมสถานที่พักชั่วคราวที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถป้องกันตนเองได้

พลเอก อนุพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม. ช่วงที่ผ่านมามีสาเหตุหลักจาก 2 ส่วน คือการใช้ยานพาหนะและการก่อสร้าง ขณะในจังหวัดจะมีสาเหตุเพิ่มจากการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเพิ่ม ซึ่ง บกปภ.ช. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดและกรุงเทพมหานครดำเนินมาตรการลดผลกระทบจากฝุ่นละอองในระยะเร่งด่วน ดังนี้ 1) มาตรการด้านการขนส่งและจราจร โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด ทั้งการการตรวจสภาพและบำรุงรักษารถ/เรือโดยสารสาธารณะ และการตรวจจับควันดำรถยนต์ 2) มาตรการตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมดูแลการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด 3) มาตรการควบคุมการก่อสร้าง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลการก่อสร้างในพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรการและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด 4) มาตรการควบคุมการเผาในที่โล่งและพื้นที่การเกษตร มุ่งเน้นการรณรงค์และสนับสนุนให้เกษตรกรนำเศษวัสดุการเกษตรไปใช้ประโยชน์หรือย่อยสลายด้วยวิธีที่เหมาะสมแทนการเผา ส่วนพื้นที่ที่จำเป็นต้องมีการเผา ให้กำหนดมาตรการควบคุมและแนวทางการจัดการในพื้นที่ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัด กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการฉีดล้างทำความสะอาดพื้นผิวถนนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่สภาพอากาศแห้งที่ทำให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายได้ง่าย รวมถึงให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยนำเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำดำเนินการฉีดพ่นน้ำเพื่อเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม  ขอความร่วมมือประชาชนในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล และใช้บริการรถโดยสารสาธารณะแทน รวมถึงใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองสูง ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูก และหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้สูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป

…………………………………………