สรุปสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกันยายน 2562

ภาพรวม ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องค่อนข้างมากจากร้อยละ 0.98 และ 0.52 ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ โดยสินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ในอัตราที่ชะลอตัวร้อยละ 5.11 โดยเฉพาะข้าวสาร  และ   ผักสด ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยลดลงร้อยละ 6.39 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่แม้จะเพิ่มขึ้นตามเหตุถล่มโรงกลั่นน้ำมันในตะวันออกกลาง แต่ยังต่ำกว่าราคาในปีที่แล้ว รวมทั้ง กบง. ได้ลดอัตราการนำเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  ซึ่งเมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว  เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.44 (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.49) และเฉลี่ย 9 เดือน เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.81

การชะลอตัวของเงินเฟ้อในเดือนนี้ สอดคล้องกับการหดตัวของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่ลดลงร้อยละ 1.9 และ 2.8 ตามลำดับ  โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของหมวดอุตสาหกรรม ในขณะที่หมวดเกษตรกรรมยังขยายตัวได้ต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งเมื่อหักราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแล้ว พบว่า เงินเฟ้อในหมวดอื่นๆ โดยเฉพาะอาหารสดและสินค้าอุปโภค-บริโภคยังคงขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน สะท้อนว่าเสถียรภาพด้านราคาสินค้าและบริการที่ไม่รวมพลังงาน ยังอยู่ในระดับทรงตัวและส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทาน อย่างไรก็ตามสัญญาณจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนกันยายน 2562

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกันยายน 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.32 (YoY) ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 2.47 โดยข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 9.15 โดยเฉพาะข้าวสาร เนื่องจากผลผลิตน้อย ผักและผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 7.04 โดยเฉพาะผักสูงขึ้นร้อยละ 8.35 (มะนาว พริกสด หอมหัวแดง) เนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากฝนตกชุกและฐานราคาปีที่ผ่านมาต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 5.74 (ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า เงาะ) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 2.79 (เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.63 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.53 (น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.66 และ 0.51 (ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว อาหารเช้า) ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ 0.10 (น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม) ตามการส่งเสริมการตลาด ขณะที่หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.90 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร ร้อยละ 2.86 โดยน้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.91 (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (NGV) และก๊าซยานพาหนะ (LPG)) การสื่อสาร ลดลงร้อยละ 0.03 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ 0.30 (รองเท้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 6.13 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.33 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.23 (ของใช้ส่วนบุคคล และค่ายา) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.75 (ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.01 (สุรา)

ดัชนีราคาผู้บริโภค เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 สูงขึ้นร้อยละ 0.10 (MoM) เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.81 (AoA) และไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.61

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกันยายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.9 (YoY) โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.8 ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร (กุ้งแช่แข็ง) เนื่องจากผลผลิตมีจำนวนมาก กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ความต้องการลดลงจากสงครามการค้า กลุ่มเคมีภัณฑ์ (เม็ดพลาสติก) กลุ่มสิ่งทอและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์ ด้ายใยสังเคราะห์ผสมฝ้าย ด้ายฝ้าย) กลุ่มเยื่อกระดาษ และกลุ่มโลหะขั้นมูลฐานและ

ผลิตภัณฑ์โลหะ (เหล็กแผ่น เหล็กเส้นและเหล็กฉาก) ราคาวัตถุดิบปรับลดลง กลุ่มเครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ปรับราคาเพื่อระบายสินค้ารุ่นเดิม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 7.1 จากกลุ่มสินค้าน้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติและแร่โลหะ (สังกะสี ดีบุก วุลแฟรม) ขณะที่หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.9 จากการสูงขึ้นของกลุ่มผลผลิตการเกษตร (ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชผัก (มะนาว มะเขือ ข้าวโพดฝักอ่อน) และกลุ่มปศุสัตว์ (สุกร ไก่มีชีวิตและไข่ไก่) กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ (ปลาดุก ปลาตะเพียน หอยนางรม หอยลาย) ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนผลไม้ (กล้วยน้ำว้า สับปะรดโรงงาน ส้มเขียวหวาน) ราคาปรับสูงขึ้นตามความต้องการ สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ผลปาล์มสด อ้อย ยางพารา และกุ้งแวนนาไม ปริมาณผลผลิตมีมากขณะที่ความต้องการลดลงตามเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

ดัชนีราคาผู้ผลิต เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 ดัชนีไม่เปลี่ยนแปลง (MoM) เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.8 (AoA) และไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.6

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เดือนกันยายน 2562 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.8 (YoY) จากการลดลงของหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 14.6 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ-ข้ออ้อย เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ลวดผูกเหล็ก) เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับลดลงและราคาวัตถุดิบมีการปรับตัวลงจากปีก่อน ประกอบกับความต้องการใช้ในประเทศลดลง สะท้อนจากจากยอดขายเหล็กในประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง หมวดสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 0.7 (โถส้วม อ่างล้างหน้า ที่ปัสสาวะ) ปรับราคาลงเพื่อกระตุ้นยอดจำหน่าย หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 1.0 (อลูมิเนียมแผ่น ยางมะตอย) ตามราคาปิโตรเลียมที่ปรับลดลง หมวดซีเมนต์ ลดลงร้อยละ 0.5 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ขาว) จากความต้องการลดลง สอดคล้องกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศหดตัวต่อเนื่อง 7 เดือน หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ลดลงร้อยละ 0.5 (ท่อร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์พีวีซี ท่อพีวีซีและอุปกรณ์ ท่อระบายน้ำเสียพีวีซี)  และหมวดวัสดุฉาบผิว ลดลงร้อยละ 0.2 (ซิลิโคน)  ปรับลดลงตามวัตถุดิบ ในขณะที่หมวดไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ สูงขึ้นร้อยละ 11.2 (ไม้พื้น ไม้ฝา ไม้คาน) จากไม้นำเข้าราคาสูงขึ้น หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 1.7  (เสาเข็มคอนกรีต  คอนกรีตบล็อก  คอนกรีตผสมเสร็จ)  เนื่องจากปริมาณลดลงจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิต และหมวดกระเบื้อง สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (กระเบื้องยางพีวีซีปูพื้น)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2562 ลดลงร้อยละ 0.7 (MoM) เฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.)    ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.8 (AoA) และไตรมาสที่ 3 ปี 2562 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.4

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนกันยายน 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ระดับ 46.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.2 ในเดือนก่อนหน้า เป็นระดับที่ต่ำกว่าช่วงความเชื่อมั่นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันลดลงจาก 41.0 มาอยู่ที่ 39.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังคงอยู่ในช่วงความเชื่อมั่นที่ระดับ 50.1 ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.3 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่ปรับตัวลดลง เกิดจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การแข็งค่าของเงินบาท การส่งออกที่หดตัว และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศการท่องเที่ยว และการลงทุน จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยเสริมสร้างให้ความเชื่อมั่นของประชาชนปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นได้ เฉลี่ยไตรมาสที่ 3 ปี 2562 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ระดับ 47.0 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.9

สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อเดือนกันยายน 2562 และไตรมาสที่ 3 ปี 2562

เงินเฟ้อในเดือนนี้ยังชะลอตัวต่อเนื่องติดต่อกันตลอดไตรมาสและขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดของไตรมาสที่ 3   โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงต่อเนื่องของราคาพลังงาน ในขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังขยายตัวสูง และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังเคลื่อนไหวในลักษณะค่อนข้างทรงตัว โดยมีสัญญาณบวกจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้จ่ายในประเทศกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 3 เดือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น ชี้ว่าเสถียรภาพด้านราคาสินค้าและบริการที่ไม่รวมพลังงาน ยังอยู่ในระดับทรงตัวและส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทาน อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงทั้งจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ทำให้ราคาสินค้าและบริการในปี 2562 น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด ทั้งนี้ สนค. คาดว่า เงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในกรอบคาดการณ์ร้อยละ 0.7-1.0

…………………………………………

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

1 ตุลาคม 2562