สทนช. เปิดศูนย์ส่วนหน้าฯ “ลุ่มน้ำยม-น่าน” จับมือทุกหน่วย คุมจราจรน้ำจากเหนือสู่เจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

สทนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ระดมทุกหน่วยจัดการจราจรน้ำที่ไหลจากภาคเหนือก่อนลงสู่อ่าวไทย โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ให้เขื่อนสิริกิติ์ปรับลดการระบายช่วงฝนชุกปลายเดือน ก.ค. เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำจากลำน้ำยมไปยังลำน้ำน่าน พร้อมเตรียมพื้นที่ “ทุ่งบางระกำ” ช่วยหน่วงน้ำหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว

วันที่ 26 กรกฎาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน  ครั้งที่ 1/2568 โดยมี นายสมลักษ์ ยกน้อยวงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ให้การต้อนรับ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนข. ผู้แทนจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดน่าน จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดแพร่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ จังหวัดสุโขทัย ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและติดตามการเตรียมความพร้อมในแต่ละจุด ได้แก่ จุดเสริมคันกั้นน้ำ หมู่ที่ 7 ตำบลปากแคว อำเภอเมืองสุโขทัย เขื่อนป้องกันตลิ่งชั่วคราวริมแม่น้ำยม บริเวณสะพานสิริปัญญารัตน์ ตำบลวังใหญ่ อำเภอศรีสำโรง ประตูระบายน้ำคลองหกบาท และประตูระบายน้ำปากคลองตะคร้อ ตำบลป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก และจุดคันกั้นน้ำคลองยม โดยที่จุดนี้ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการเสริมคันดินชั่วคราวป้องกันน้ำให้แล้วเสร็จภายในคืนนี้

เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานอำนวยการน้ำฯ พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ในวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรก เนื่องจากการที่ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “วิภา” ในช่วงนี้ และได้รายงานสถานการณ์เป็นรายวัน ให้นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้รับทราบ ได้มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน จึงสั่งการให้ สทนช. จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน เพื่อบูรณาการกับทุกหน่วยงานทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ร่วมบริหารจัดการน้ำที่จะไหลจากพื้นที่ตอนบนของประเทศลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาโดยลดผลกระทบในแต่ละพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ปริมาณฝนโดยกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า อิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกหนักบริเวณจังหวัดเชียงราย น่าน และพะเยา โดยมีปริมาณฝนสูงสุดประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ ระหว่างวันที่ 26 – 28 กรกฎาคม 2568 จากนั้นปริมาณฝนจะลดลงในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ยังไม่น่าเป็นห่วงและมีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มได้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 70% มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำได้อีก 2,761 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปัจจุบันมีการระบายน้ำอยู่ที่ 15 ล้าน ลบ.ม./วัน ซึ่งจะต้องวางแผนการระบายให้สอดคล้องกับปริมาณฝนที่จะตกมาเพิ่มเพื่อไม่ให้น้ำในเขื่อนเกินระดับเก็บกักน้ำสูงสุด ในขณะเดียวกันยังคงต้องให้เขื่อนสิริกิติ์เป็นกลไกสำคัญในการช่วยบริหารจัดการมวลน้ำที่ไหลผ่านลำน้ำยมและลำน้ำน่านด้วย

จากสถานการณ์ดังกล่าว ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาแผนการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดการระบายน้ำลงอยู่ที่ 10 ล้าน ลบ.ม./วัน ในช่วงวันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 2568 เพื่อช่วยเร่งการระบายน้ำที่ไหลผ่านจากลำน้ำยมไปสู่ลำน้ำน่าน โดยขอให้ทุกหน่วยงานช่วยสนับสนุนการเร่งการระบายน้ำโดยเร็วที่สุด เช่น การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม เพื่อระบายน้ำไปให้ได้มากที่สุดในช่วง 5 วันนี้ หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งคาดการณ์ว่าปริมาณฝนลดลง ให้ กฟผ. ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่จะกลับมาอีกในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งการปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ในครั้งนี้ ได้ขอให้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ท้ายเขื่อนสิริกิติ์ด้วย สำหรับการเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก “โครงการบางระกำโมเดล” พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวรวม 327,000 ไร่ ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้ว 91,519 ไร่ ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีก 235,481 ไร่ ซึ่งมีแผนจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2568 ก็จะสามารถใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำยมได้ในปริมาณ 400 ล้าน ลบ.ม.

“จากการลงพื้นที่ติดตามปริมาณน้ำในแต่ละจุด พบว่า ได้เตรียมการบริหารจัดการมวลน้ำที่คาดว่าจะมาสูงสุดในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ โดยระบายน้ำส่วนหนึ่งผ่านคลองยม – น่าน และแม่น้ำยมสายเก่า และอีกส่วนระบายผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ แม่น้ำยมสายหลัก เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะผ่านตัวเมืองสุโขทัยให้อยู่ในระดับไม่เกิน 500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่ก่อเกิดให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจเมืองสุโขทัย อย่างไรก็ตาม การประชุมในวันนี้พบว่าหน่วยงานในพื้นที่ทุกจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่และเข้มแข็ง ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมการรองรับก่อนเกิดสถานการณ์ การบริหารจัดการในระหว่างเกิดสถานการณ์ ไปจนถึงการช่วยเหลือและฟื้นฟูเยียวยาหลังสถานการณ์ ทั้งนี้ ได้ขอให้แต่ละจังหวัดสะท้อนจุดอ่อนจากการทำงานให้กับที่ประชุม เพื่อเตรียมการขับเคลื่อนและพัฒนาประสิทธิภาพการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในอนาคตต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย