“ชัยชนะ” เดินหน้าขยายผล Thai Triple-P พัฒนาเด็กปฐมวัย “สงขลา” ตั้งเป้าให้ได้ 1.5 ล้านครอบครัว ในปี 2572

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา ขยายผลความร่วมมือโครงการ “เลี้ยงเก่ง ลูกเก่ง ด้วย Thai Triple-P” ระหว่างกรมสุขภาพจิต และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งเป้า 50,000 ครอบครัว ในปี 2568 และขยายให้ได้ 1.5 ล้านครอบครัว ในปี 2572 เผยผลดำเนินการพื้นที่นำร่อง เด็กมีพัฒนาการสมวัยทุกด้านและมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพิ่มขึ้น ขณะที่พ่อแม่/ผู้ปกครองมีทักษะการเลี้ยงดูเพิ่มขึ้นเช่นกัน

วันที่ 26 กรกฎาคม 2568 นายชัยชนะ เดชเดโช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เยี่ยมติดตามการดำเนินงานของสถานบริการสาธารณสุข ประกอบด้วยโรงพยาบาลสงขลา อำเภอเมืองสงขลา และโรงพยาบาลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา พร้อมทั้งเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการส่งเสริมพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย “เลี้ยงเก่ง ลูกเก่ง ด้วย Thai Triple-P” ระหว่าง กรมสุขภาพจิตและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นายชัยชนะ กล่าวว่า การดูแลเด็กปฐมวัย เป็นการวางรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งดำเนินโครงการ “เลี้ยงเก่ง ลูกเก่ง ด้วย Thai Triple-P” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน “เดือนแห่งสุขภาพใจ” ตามมติ ครม. โดยเป็นโปรแกรมฝึกทักษะการเลี้ยงดูเด็กสำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 2 ปี 6 เดือน – 6 ปี และพ่อแม่/ผู้ปกครอง ที่มุ่งส่งเสริมสุขภาพจิตตั้งแต่ปฐมวัย ให้มีพัฒนาการและความฉลาดทางอารมณ์ ใช้การเสริมพลังและการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม สร้างความผูกพันทางอารมณ์ การฝึกวินัยด้วยเทคนิคเชิงบวก และการกระตุ้นพัฒนาการตามหลัก Developmental Surveillance Promotion Manual: DSPM ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ สร้างสายใย โดยสร้างความผูกพันทางอารมณ์ผ่านการกอด หอม เล่นกับลูก สร้างวินัย โดยฝึกการลงโทษที่ไม่ใช้ความรุนแรง สร้างเด็กเก่ง โดยฝึกกระตุ้นพัฒนาการและการชม และฝึกพัฒนาการแบบบูรณาการ โดยมีผู้นำกลุ่ม ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุข และครูศูนย์พัฒนาเด็กเด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลที่ผ่านการอบรม

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า โครงการนี้มุ่งพัฒนา IQ เด็กไทยให้ไม่ต่ำกว่า 103 และ EQ อยู่ในระดับปกติขึ้นไป ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 ตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยใช้กิจกรรมสร้างสรรค์แบบมีส่วนร่วม พร้อมแนวทาง Gentle Parenting เพื่อสร้างครอบครัวอบอุ่น ตั้งเป้าดำเนินการให้ได้ 50,000 ครอบครัว ในปี 2568 และขยายผลดำเนินการให้ได้ถึง 1.5 ล้านครอบครัว ในปี 2572 ซึ่งจากการดำเนินการนำร่องผ่านโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตั้งแต่ปี 2565 ในครอบครัว 7,654 ครอบครัว จาก 451 โรงเรียน พบว่าได้ผลดีอย่างมาก โดยเด็กมีพัฒนาการสมวัยทุกด้าน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 41.36 เป็นร้อยละ 60.62 มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 87.61 เป็นร้อยละ 96.67 และพ่อแม่/ผู้ปกครองมีทักษะในการเลี้ยงดูเด็กเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.18 เป็นร้อยละ 69.93