วันที่ 24 กรกฎาคม 2568 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ Tilt Collective และ The Cloud จัดงาน “Plant-Rich Food Forum & Culinary Experience ปรับจานเปลี่ยนอนาคต” ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค เพื่อสร้างการตระหนักรู้ กระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการสร้างความหลากหลายทางโปรตีน และส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในฐานะผู้นำระดับภูมิภาค รวมถึงกระตุ้นการลงมือทำ นำเสนอแนวทางที่ใช้ได้จริง และชี้ให้เห็นบทบาทสำคัญของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนระบบอาหารที่ยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ และส่งเสริมความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดประโยชน์จริง โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน สื่อมวลชน องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม
นางสาวสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ สอวช. ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “นโยบายด้านอาหารจากพืชกับการขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต Plant-Rich Food Future: A National Strategy for Economic Innovation and Global Competitiveness” โดยกล่าวว่า ระบบการผลิตอาหารแบบยั่งยืน จะสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ โดย “อาหารจากพืช” จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าภาพฉากทัศน์ของประเทศไทยในอีก 25 ปีข้างหน้า หากมีการส่งเสริมระบบอาหารจากพืชที่เน้นนวัตกรรม จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และลดค่าใช้จ่ายจากระบบสาธารณสุข นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ ผ่านเทคโนโลยีก้าวกระโดดหลายสาขา เช่น ชีววิทยาสังเคราะห์ AI การพิมพ์สามมิติ ฯลฯ และยังช่วยสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มความมั่นคงทางอาหารผ่านความหลากหลายของแหล่งโปรตีนด้วย
ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี ค.ศ. 2030 และจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งหากประเทศไทยเพิ่มการผลิตโปรตีนให้มีความหลากหลายโดยเปลี่ยนผ่านสู่โปรตีนจากพืชให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2050 ก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35.5 ล้านตันต่อปี และจะสามารถบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสและบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ เมื่อมองไปที่ระบบอาหารจากพืชที่เน้นนวัตกรรม จากข้อมูลมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกคาดว่าจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี พ.ศ. 2566 มูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 50,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตขึ้น 8% ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2570 คาดว่าจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 68,800 ล้านบาท
นางสาวสิรินยา ยังได้ยกตัวอย่างการขับเคลื่อนในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้ตระหนักถึงศักยภาพและประโยชน์ของระบบอาหารจากพืชและได้เริ่มวางยุทธศาสตร์เชิงรุกในระดับประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร ที่รัฐบาลเริ่มวางแผนยุทธศาสตร์อาหารแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง 30% และเพิ่มการบริโภคผักผลไม้รวมถึงไฟเบอร์อย่างมีนัยสำคัญ ฝรั่งเศส ที่มีกฎหมาย Climate and Resilience Bill มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2023 กำหนดให้สถานประกอบการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการอาหาร จะต้องมีเมนูอาหารจากพืชทุกวัน เดนมาร์ก ได้ริเริ่มแผนปฏิบัติการสำหรับอาหารจากพืช โดยกระทรวงอาหาร การเกษตร และการประมง เพื่อส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอาหารจากพืชอย่างจริงจัง และเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างไต้หวัน ที่ได้ออกพระราชบัญญัติการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ระบุชัดเจนว่ารัฐบาลต้องส่งเสริมอาหารคาร์บอนต่ำประกอบด้วยอาหารจากพืช อาหารท้องถิ่น และการลดขยะอาหาร
สำหรับศักยภาพและความท้าทาย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีต้นทุนที่ได้เปรียบ ทั้งความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเราเป็นผู้ผลิตโปรตีนชั้นนำในระดับโลก และมีผู้ผลิต Plant-Based ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก อีกส่วนที่สำคัญคือเรามีภูมิปัญญาด้านอาหารและวัฒนธรรมการกินที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทำให้เรามีชื่อเสียงในฐานะ “ครัวของโลก” และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนของโลกได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรสชาติของอาหาร รวมถึงความกังวลของผู้บริโภคบางกลุ่มเรื่องอาหารแปรรูปสูง (Ultra Processed Food: UPF) ซึ่งรัฐและฝ่ายวิชาการมีหน้าที่ที่จะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้บริโภคเพื่อให้ลดความกังวลลงไป
จากโอกาสและความท้าทายดังกล่าว ทำให้ สอวช. มีแผนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยคือ 1.ต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารที่เรามีศักยภาพ ด้วยการสร้างกลไกบริษัทเกษตร (producer company) เพื่อยกระดับให้เกษตรกรมีส่วนแบ่งได้มากขึ้นจากห่วงโซ่อุปทาน สนับสนุนการแปรรูปขั้นต้น ดึงดูดการลงทุนโปรตีนขั้นสูง ทั้งในและนอกประเทศ 2.ต่อยอดวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบเกษตรของไทยที่มีโปรตีนสูง ให้นำมาแปรรูปและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่อร่อยและปลอดภัย เช่น blended product or less process รวมถึงเพิ่มหน่วยบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้าน Foodtech & Biotech และ 3. ต่อยอดและพัฒนาตลาด โปรโมทวัตถุดิบและสูตรอาหารท้องถิ่นให้เป็น Soft power รวมถึงสร้างความตระหนักด้วยการให้ความรู้และสร้างช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงอาหารและโปรตีนจากพืชให้ได้มากขึ้น
สอวช. ยังมีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอาหารที่อุดมด้วยพืช ในปี ค.ศ. 2025-2027 โดยเน้นการทำงานใน 3 มิติสำคัญคือ 1.สร้างเครือข่ายผู้ซื้อ-ผู้จำหน่าย (Buyer-supplier network) ในห่วงโซ่ระบบอาหารที่อุดมไปด้วยพืชให้แข็งแกร่ง เริ่มจากการสำรวจอุปสรรค จากนั้นจะดำเนินการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ และจะจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนในเครือข่าย โดยมีเป้าหมายให้มีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 30 ราย 2. ขับเคลื่อนนโยบายผ่านการประสานงานกับภาครัฐ ด้วยการเข้าไปหารือกับ 20 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจและร่วมกันผลักดันให้เกิด 1 โครงการริเริ่มที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมนโยบายที่เอื้อต่อการพัฒนาระบบอาหารแบบ Plant-Rich Diet และ 3.สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในระบบอาหาร ผ่านการจัดหลักสูตรระยะสั้น 1 หลักสูตร เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะให้กับบุคคลสำคัญจำนวน 15 ท่าน จากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งนักกำหนดอาหาร เชฟ อินฟลูเอนเซอร์ อาจารย์ ผู้ประกอบการด้าน Wellness ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเปรียบเสมือนผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยขยายผลองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีไปสู่สังคมในวงกว้าง
“เราเชื่อในศักยภาพของประเทศไทย และคิดว่าเรื่อง Plant-rich diet ไม่ได้ช่วยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพส่วนบุคคลเท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศด้วย” นางสาวสิรินยา กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้ นางสาวรติมา เอื้อธรรมาภิมุข นักยุทธศาสตร์ระดับสูง สอวช. ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางสู่การเปลี่ยนผ่านภายในองค์กร โดยได้แบ่งปันข้อมูลการดำเนินงานภายในของ สอวช. ที่ได้ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย สอวช. ได้ผ่านการพิจารณาเพื่อรับเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และภายในองค์กรได้มีกิจกรรมรณรงค์บริโภคอาหารโปรตีนทางเลือก (Plant-Based) ในสัดส่วน 30% สำหรับกิจกรรมและการประชุมภายในองค์กร เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการสร้างความตระหนักให้คนในองค์กรร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย และเห็นความสำคัญกับนโยบายที่ สอวช. ดำเนินการอยู่และร่วมกันผลักดันขยายผลในระดับประเทศต่อไปด้วย