กรมอนามัย หนุนท้องถิ่นล้างประปาผิวดิน – บ่อน้ำตื้น หลังน้ำลด ช่วยชาวบ้านได้ใช้น้ำสะอาด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะท้องถิ่นประสบภัยน้ำท่วมที่กำลังกลับคืนสู่สภาวะปกติ เร่งล้างประปาผิวดิน และบ่อน้ำตื้นอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคอย่างเพียงพอและปลอดภัย

นายแพทย์ดนัย  ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การเกิดอุทกภัยในแต่ละครั้งจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่ประสบภัย เนื่องจากน้ำดิบจากแม่น้ำ ลำคลอง สระ หนอง ถูกน้ำท่วมทำให้น้ำเน่าเสีย สกปรกและปนเปื้อนเชื้อโรค เมื่อเข้าไปสู่ระบบประปาจะทำให้ระบบประปาเกิดความสกปรกไม่เหมาะสมกับการผลิตน้ำประปา ดังนั้นหลังจากที่น้ำท่วมและกำลังเข้าสู่ภาวะปกติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับการล้างระบบประปาของชุมชนที่ถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถให้บริการได้เนื่องจากน้ำเน่าเสียที่ปนเปื้อนไปกับแหล่งน้ำดิบหรือถังเก็บน้ำ อาจก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพน้ำประปาที่ประชาชนต้องนำไปใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค จึงควรดำเนินการล้างระบบประปาโดยเฉพาะระบบประปาผิวดินทั้ง 3 ส่วนให้สะอาดคือ 1) คลองวนเวียน 2) ถังตกตะกอนและช่องน้ำล้น และ 3) หน้าทรายกรอง เมื่อดำเนินการล้างระบบประปาดังกล่าวเสร็จแล้ว ก็สามารถเปิดน้ำเข้าระบบผลิต ได้ตามปกติ ซึ่งการล้างระบบประปาเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องตั้งแต่แหล่งน้ำดิบจนถึงระบบท่อส่งน้ำ โดยแหล่งน้ำดิบต้องทำความสะอาด กำจัดวัชพืช ส่วนระบบท่อส่งน้ำประปาควรมีการระบายตะกอนในเส้นท่อเมนจ่ายน้ำ สำรวจ ตรวจสอบการชำรุด แตกรั่วของท่อประปาควบคู่ไปด้วย จะทำให้ระบบประปาสามารถจ่ายน้ำที่สะอาดจากต้นทางไปถึงบ้านผู้ใช้น้ำได้อย่างมีคุณภาพ

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับบ่อน้ำตื้นซึ่งเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคที่สำคัญแหล่งหนึ่งใน พื้นที่ชนบทและเป็นแหล่งน้ำทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนนิยมนำมาใช้ทดแทนน้ำประปา หลังน้ำลดจึงควรมีการ ล้างบ่อน้ำตื้นโดยการเก็บเศษใบไม้และเศษวัสดุต่าง ๆ ในบ่อออก แล้วทำการสูบน้ำออกจากบ่อให้หมด เนื่องจากน้ำในบ่อจะมีน้ำที่สกปรกเข้าไปปนเปื้อนในช่วงที่เกิดอุทกภัย โดยขณะสูบน้ำออกให้กวนน้ำตลอดเวลาเพื่อให้ตะกอนออกมามากที่สุด จากนั้นปล่อยให้น้ำใสเข้ามาแทนที่จนอยู่ในระดับปกติเตรียมน้ำปูนคลอรีนความเข้มข้น 50 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm.) โดยละลายผงปูนคลอรีน 65 เปอร์เซ็นต์กับน้ำสะอาดในถัง ตั้งทิ้งไว้รอจนผงปูนตกตะกอน นำน้ำปูนคลอรีนส่วนที่เป็นน้ำใสเทลงบ่อ ราดและกวนให้ทั่วบ่อ ทิ้งไว้ 30 นาทีแล้วสูบน้ำจากบ่อฉีดล้างคราบตะไคร่น้ำและคราบสกปรกทั้งภายในและภายนอกวงขอบบ่อ พร้อมทั้งใช้แปรงขัดขอบบ่อให้สะอาด  และสูบน้ำออกจากบ่อให้หมดหรือให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้น้ำใสซึมออกมาจนถึงระดับปกติ

“หากพบว่าบ่อชำรุด เช่น ชานบ่อ วงขอบบ่อ และยารอยต่อต่าง ๆ ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ทันที ส่วนกรณีบ่อไม่มีวงขอบต้องระมัดระวังการทรุดตัวของบ่อ และบริเวณปากบ่อควรมีรั้วล้อมเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งการล้างบ่อน้ำตื้นหลังน้ำลดจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้ใช้น้ำที่สะอาดปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและ   มีคุณภาพ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานสามารถดูรายละเอียดขั้นตอนการล้างประปาผิวดินและบ่อน้ำตื้นได้ที่เว็บไซต์ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย www.foodsan.anamai.moph.go.th” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***