รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วางระบบบัญชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เหตุชายแดนไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด พร้อมออก 9 ข้อสั่งการรองรับ ให้ปิดโรงพยาบาลเขต Hot Zone วางแผนเส้นทางอพยพ เตรียมพร้อมห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน สำรองยา เวชภัณฑ์ สื่อสารความเสี่ยงสุขภาพต่อประชาชน และดูแลสุขอนามัยในศูนย์อพยพ ด้านรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยมีประชาชนบาดเจ็บ 31 ราย เสียชีวิต 13 ราย สถานพยาบาลปิด 7 แห่ง เปิดเฉพาะฉุกเฉิน 4 แห่ง อพยพผู้ป่วยรวม 429 ราย
วันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ที่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้วางระบบบริหารจัดการสถานการณ์นี้ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์สูงสุด มอบหมายให้ตน เป็นผู้บัญชาการส่วนกลาง และ นพ.ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้บัญชาการส่วนหน้า ประสานกับผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6, 9, 10 และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 7 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งมีข้อสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในพื้นที่ 9 ข้อ คือ
1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์และประสานสั่งการด้านสุขภาพ 2.ประเมินสถานการณ์โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง การปิดโรงพยาบาลในเขต Hot Zone และประสานหน่วยแพทย์ทหารตามแนวทางที่กำหนดไว้ 3.วางแผนเส้นทางและระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากพื้นที่ชายแดนไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมทั้งในและนอกจังหวัดอย่างรวดเร็วและปลอดภัย 4.จัดเตรียมโรงพยาบาลในพื้นที่และโรงพยาบาลคู่ขนาน ให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก, ห้องผ่าตัด, และห้องฉุกเฉินที่พร้อมใช้งาน 5.ตรวจสอบและสำรองยา เวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ อุปกรณ์กู้ชีพ และเครื่องมือจำเป็นให้เพียงพอ โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บจากสงครามและโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉิน 6.ให้มีการประสานงานหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ การเคลื่อนย้ายประชากร และความต้องการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน 7.สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพและให้ข้อมูลกับผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนเข้าใจง่าย เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก 8.ดูแลสุขอนามัยในจุดพักพิงเพื่อป้องกันโรคจากสิ่งแวดล้อมเฝ้าระวังและควบคุมโรค รวมถึงให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง และ 9.หากมีข้อสงสัยหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติให้รายงานต่อศูนย์ PHEOC ส่วนกลางเพื่อให้การสนับสนุนโดยด่วน
นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า จากการติดตามสถานการณ์ข้อมูลเมื่อเวลา 09.00 น. มีผู้ประชาชนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ 31 ราย เสียชีวิต 13 ราย แยกเป็น อุบลราชธานี บาดเจ็บสาหัส 2 ราย ปานกลาง 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย, ศรีสะเกษ บาดเจ็บสาหัส 3 ราย ปานกลาง 8 ราย เล็กน้อย 4 ราย เสียชีวิต 8 ราย, สุรินทร์ บาดเจ็บสาหัส 1 ราย ปานกลาง 3 ราย เล็กน้อย 6 ราย เสียชีวิต 4 ราย และ บุรีรัมย์ บาดเจ็บปานกลาง 1 ราย และเล็กน้อย 1 ราย โดยผู้บาดเจ็บทั้งหมดมีการติดตามดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ส่วนสถานพยาบาลต้องปิดบริการ 7 แห่ง ได้แก่ รพ.น้ำขุ่น รพ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี, รพ.กันทรลักษ์ รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ, รพ.กาบเชิง รพ.พนมดงรักเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.สุรินทร์ และรพ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ เปิดบริการเฉพาะห้องฉุกเฉิน 4 แห่ง ได้แก่ รพ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี รพ.ปราสาท รพ.สังขะ จ.สุรินทร์ และ รพ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ภาพรวมมีการอพยพผู้ป่วยทั้งหมด 429 ราย และอพยพประชาชนแล้ว 83,170 ราย ทั้งนี้ ได้กำชับสถานพยาบาลในสังกัด กรณีประชาชนที่มีโรคประจำตัวที่อพยพจากเหตุการณ์นี้หากมาขอรับยาต่อเนื่อง ให้ดูแลจ่ายยาอย่างพอเพียงกับสถานการณ์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน