1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.แพร่ (137 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.หนองคาย (46 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (44 มม.) ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (85 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (112 มม.) ภาคใต้ : จ.ชุมพร (29 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณจังหวัดจันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักบางพื้นที่
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 19 – 24 ก.ค. 68 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
พายุโซนร้อน “วิภา” มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน และคาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวตังเกี๋ย และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 20 – 21 ก.ค. 68
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 58% ของความจุเก็บกัก (46,956 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 39% (22,838 ล้าน ลบ.ม.)
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 16 –’17 ก.ค. 68 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะฯ เข้าร่วมการประชุม 3rd P-LINK Regional Consultative Forum ณ โรงแรม Central Palace Hotel เมืองโฮจิมินท์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
วัตถุประสงค์ของการประชุมฯ เพื่อให้ประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่ดำเนินโครงการความร่วมมือไตรภาคีด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบแนวคิดความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ-อาหาร-พลังงาน (WFE Nexus) หรือ P-LINK ได้ร่วมกันรายงานความก้าวหน้าของโครงการนำร่อง แลกเปลี่ยนบทเรียนจากการดำเนินงานจริง และหารือแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการ
ทั้งนี้ ผู้แทน สทนช. พร้อมผู้แทนจากท้องถิ่นพื้นที่ดำเนินโครงการนำร่องของไทย ได้ร่วมนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ “การพัฒนาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบน้ำประปาหมู่บ้านสำหรับ ม. 1 , 2 และ 3 “ต.บุ่งคล้า “อ.บุ่งคล้า “จ.บึงกาฬ” โดยโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากสาธารณรัฐเกาหลี โดยปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระยะทดสอบระบบ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลการใช้งานจริง โดยชุมชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการ รวมถึงการฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมการศึกษาดูงาน ณ จ.ลองอาน และเตียนยาง ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่ใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรเพื่อปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และน้ำ เพื่อรับมือกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และการปลูกพืชเศรษฐกิจภายใต้ข้อจำกัดของทรัพยากร อาทิ แก้วมังกร ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรอย่างบูรณาการตามแนวคิด WFE”Nexus”โดยมีการหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเกษตรกร นักวิจัยท้องถิ่น และสถาบันวิจัยในพื้นที่ เพื่อนำแนวทางดำเนินงานดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในบริบทของประเทศไทย ภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงทรัพยากรน้ำ อาหาร และพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป
4. พื้นที่ประสบอุทกภัย : สถานการณ์อุทกภัย วันที่ 18 ก.ค. 68 ในพื้นที่ 1 จ. 8 อ. คือ จ.น่าน (อ.ทุ่งช้าง เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ สองแคว ท่าวังผา เชียงกลาง ภูเพียง และปัว)