สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ดำเนินการขับเคลื่อนบทบาทการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 5 (The 5th MRC Summit) และการประชุมวิชาการนานาชาติ (International Conference) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 เมษายน 2569 ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
วันที่ 18 กรกฎาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะคณะกรรมการร่วมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมด้วย นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนช. และ ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานของคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Joint Committee Working Group: JCWG) ครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมการจัดประชุมสุดยอดผู้นำฯ ร่วมกับหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS CEO) เจ้าหน้าที่จาก MRCS และผู้แทนจากประเทศสมาชิก ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ โรงแรม Central Palace Hotel เมืองโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุม JCWG ครั้งนี้ ได้แก่ การร่วมกันหารือและยืนยันธีมหลักของการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งที่ 5 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในลุ่มน้ำโขง รวมถึงการให้ข้อคิดเห็นต่อร่างปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ฉบับที่ 1 โดยประเทศสมาชิกได้เห็นชอบธีม “Growing Together and Stronger for People, Partnership, and Prosperity in the Mekong River Basin” และร่วมอภิปรายอย่างรอบด้าน พร้อมเสนอให้ MRCS ปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ ตามข้อเสนอแนะ ก่อนจัดส่งให้ประเทศสมาชิกพิจารณาในลำดับถัดไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าของร่างกำหนดการการประชุมวิชาการนานาชาติ ซึ่งจะจัดควบคู่กับการประชุมสุดยอดผู้นำฯ เพื่อเสริมสร้างเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ การประชุมสุดยอดผู้นำ MRC ถือเป็นเวทีระดับสูงสุดของกลไกความร่วมมือในลุ่มน้ำโขง โดยเปิดโอกาสให้ผู้นำจากประเทศสมาชิก ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แสดงเจตจำนงร่วมกันในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง โดยเน้นย้ำความเป็นหนึ่งเดียว ของความร่วมมือ และความรับผิดชอบร่วมกันในการรับมือกับความท้าทายของภูมิภาค