เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2568 นายกิตติ อินทรกุล รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมการเสริมสร้างความรู้ภายใต้โครงการ “พม. STRONG ต้านทุจริต” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการป้องกันการทุจริตและสร้างความโปร่งใสภายในองค์กร โดยมีคณะผู้บริหาร และบุคลากรสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมประชาบดี ชั้น 19 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผ่านระบบการประชุมออนไลน์
นายกิตติ กล่าวว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสระดับนานาชาติ ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2024 (พ.ศ. 2567) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศเดนมาร์ก ครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนน สูงสุด 90 คะแนน ในขณะที่ประเทศไทย ได้ 34 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศสิงคโปร์ ได้คะแนน สูงสุด คือ 84 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้วางทิศทางนโยบาย “ป้องนำปราบ” โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหา นำการปราบปรามการทุจริต มุ่งสร้างให้สังคมไทย ไม่ทนต่อการทุจริต การเฝ้าระวังและการส่งเสียง ที่นำไปสู่การเปิดโปงความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับการทุจริตในทุกรูปแบบ
วันนี้ สำนักงานปลัดกระทรวง พม. จึงได้จัดกิจกรรมการเสริมสร้างความรู้ภายใต้โครงการ “พม. STRONG ต้านทุจริต” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการป้องกันการทุจริตและสร้างความโปร่งใสภายในองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตให้แก่บุคลากรของกระทรวง พม. และสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตภายในองค์กร พร้อมทั้งให้บุคลากรของกระทรวง พม. ทราบถึงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริต อีกทั้งสร้างเครือข่ายในการป้องกันการทุจริตทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ มีการบรรยายให้ความรู้แก่บุคลากรของกระทรวง พม. เรื่อง รู้เท่า รู้ทัน รู้ป้องกันการทุจริต โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงาน ป.ป.ช. ได้แก่ นายมีชัย โอ้น ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาล และนายพรเวช มั่นไทรทอง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ ซึ่งเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานตามกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่ใช้ในการดำเนินงานควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สามารถป้องกันการทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ได้
นายกิตติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว นับเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาคนและระบบ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับและหล่อหลอม พฤติกรรมคนให้มีจิตสำนึกและพฤติกรรมยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต รู้จักแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ส่วนรวม พร้อมสร้างจิตสำนึก ค่านิยมของบุคลากรในการต่อต้านการทุจริต สนับสนุนการมีส่วนร่วม เป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง สอดส่อง และแจ้งเบาะแสการทุจริต ทั้งนี้ หวังว่าโครงการนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่บุคลากรของกระทรวง พม. จะได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต ทราบถึงสิทธิหน้าที่ของตนเอง รู้เท่าทันพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่การทุจริต และสามารถปกป้องตนเองจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย เสริมสร้างประสิทธิภาพและยกระดับการให้บริการประชาชน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้ประสบปัญหาทางสังคม
#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #5×5ฝ่าวิกฤติประชากร #พมหนึ่งเดียว #วราวุธศิลปอาชา #ศบปภ #พันธกิจสำคัญ9ด้าน #ป้องกันการทุจริต #สร้างความโปร่งใส #ทุจริต