พม. จัดประชุมสมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติ 2568 พร้อมหนุนข้อเสนอ สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสตรีและครอบครัว

วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “สานพลังสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสตรีและครอบครัว” จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวง พม. พร้อมรับมอบข้อเสนอมติสมัชชาสตรีและครอบครัว ซึ่งเป็นเวทีให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสะท้อนสถานการณ์ปัญหา วิเคราะห์สาเหตุ แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์อย่างรอบด้าน และให้ข้อเสนอ สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาสถาบันครอบครัว รวมถึงสมาชิกในครอบครัวทุกช่วงวัย ให้มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขหรือข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้นางสาวแรมรุ้ง  วรวัธ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พร้อมผู้บริหารกระทรวง พม. และพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากกลุ่มสตรี องค์กรเอกชน มูลนิธิ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสตรีและครอบครัว เข้าร่วมงาน ณ ห้องปรินซ์ บอลลูม 1-2 โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ

นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และเสริมพลังให้แก่สตรีและเด็กหญิง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 การดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) และปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี อีกทั้งให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นฐานในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง พม. อย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการผลักดันกฎหมาย นโยบาย มาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ 1. การสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังทางเศรษฐกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 โดยมีการจัดบริการศูนย์เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 3 ปี , การส่งเสริมการลาของสามีเพื่อช่วยภรรยาหลังคลอด และการขยายวันลาคลอดของแม่โดยได้รับค่าจ้าง จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน 2. การจัดตั้งศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) กระทรวง พม. เพื่อจัดการปัญหาความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ โดยได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความรุนแรงเพศหญิง จำนวน 1,175 ราย และเด็กหญิง จำนวน 476 ราย (ข้อมูล วันที่ 1 ต.ค. 67-10 มี.ค. 68) 3. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิด การคุกคามทางเพศในการกีฬา โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และการประกาศเจตนารมณ์ในเรื่องดังกล่าว โดยกระทรวง พม. ร่วมกับสมาคมกีฬานำร่อง 20 สมาคม และองค์กรเครือข่าย 20 องค์กร เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 4. การปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าว ตามที่กระทรวง พม.เสนอ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว และป้องปรามไม่ให้เกิดความรุนแรงผ่านมาตรการทางกฎหมาย 5. แพลตฟอร์ม SoSafe เพื่อสังคมปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาทางสังคม ให้สามารถเข้าถึงการแจ้งเหตุ และบริการความช่วยเหลือได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งการดูข้อมูลสิทธิสุขภาพทางเพศ และแจ้งเหตุปัญหา 3 รูปแบบ ได้แก่ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม การล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว ร่วมกับ 8 หน่วยงานภาคีเครือข่าย 6. การขับเคลื่อนกลไกผู้บริหารด้านการเสริมสร้างบทบาทหญิงชาย (CGEO) เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ (GFP) โดยปัจจุบันมีการแต่งตั้งครบทั้งหมด 20 กระทรวง 141 หน่วยงาน 7. การจัดทำงบประมาณที่คำนึงถึงมิติเพศภาวะ (GRB) โดยการจัดทำคู่มือและสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจ และการสร้างหน่วยงานนำร่องด้านการจัดทำ GRB โดยมุ่งเน้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 8. การจัดให้มีห้องสุขาสาธารณะสำหรับทุกคน โดยให้เห็นถึงการตระหนักถึงสิทธิ และการไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ ซึ่งเป็นฐานคิดสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคและเท่าเทียมทางสังคม ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) อยู่ระหว่างผลักดันมาตรการวันลาเพื่อครอบครัว (Family Leave) เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เป็นการส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว ด้วยการรับรองสิทธิหรือให้นิยามสิทธิเกี่ยวกับการลาเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวและวันหยุดเพื่อดูแลครอบครัวไว้โดยเฉพาะ

นายอนุกูล กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวง พม. ได้ขับเคลื่อนมติสมัชชาสตรีและครอบครัวมาอย่างต่อเนื่องทุกระดับ อาทิ 1. ข้อเสนอสมัชชาสตรีปี 2563 ที่มีการเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งกระทรวง พม. ได้ผลักดันและคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2568 2. ข้อเสนอสมัชชาสตรี ปี 2565 ที่มีการเสนอให้สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจัดการภัยพิบัติ อย่างมีมิติเพศภาวะ โดยกรม สค. ได้พัฒนาคู่มือการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ด้วยมุมมองมิติเพศภาวะ ร่วมกับ ศอบต. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ มอ.วิทยาเขตปัตตานี และ UN Women 3. ข้อเสนอสมัชชาสตรีปี 2566-2567 ที่มีการเสนอให้หาแนวทางการแจกผ้าอนามัยฟรีในสถานศึกษา เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเด็กหญิงและครอบครัว โดยกรม สค. อยู่ระหว่างการศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นสมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2568 ภายใต้แนวคิด “สานพลังสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อสตรีและครอบครัว” ประกอบด้วย 4 ประเด็น ดังนี้  1) วัยทำงานสร้างตัว สร้างอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง 2) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานและดูแลครอบครัว 3) การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อการปรับตัวของสตรี และ 4) เสียงสตรีกับการขับเคลื่อนนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

ในส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสตรีและครอบครัว ประจำปี 2568 ที่ได้รับมอบในวันนี้ ได้แก่ 1) ส่งเสริมสตรีและครอบครัวมีงานทำ ยกระดับรายได้ พัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ 2) เพิ่มโอกาสของสตรีและครอบครัวให้เข้าถึงแหล่งทุนและเสริมพลังวัยทำงาน 3) สร้างหลักประกันเพื่ออนาคตของครอบครัว 4) พัฒนานโยบายที่สนับสนุนการดูแลสตรีและครอบครัวในสถานที่ทำงาน องค์กร และชุมชน 5) ส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว (Work life balance) 6) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการมีส่วนร่วมทางการเมือง และ 7) เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมกับการปรับตัวของสตรีและครอบครัว

“กระทรวง พม. จะนำไปขับเคลื่อนผ่านกลไกของคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) และคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ (กยค.) เพื่อนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายและผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป และต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลามาร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ จนเกิดมติสมัชชาในครั้งนี้ และเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าทุกข้อเสนอจะถูกผลักดันในเชิงนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” นายอนุกูลกล่าว

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #5×5ฝ่าวิกฤติประชากร #พมหนึ่งเดียว #วราวุธศิลปอาชา #ศบปภ #พันธกิจสำคัญ9ด้าน #สมัชชาสตรีและครอบครัวระดับชาติประจำปี2568 #กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว #ครอบครัว #สตรี