รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมการพัฒนารูปแบบการจัดบริการด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคไม่ติดต่อในชุมชน เสริมศักยภาพบุคลากรหน่วยบริการปฐมภูมิในการจัดบริการ วางระบบงานเฝ้าระวังจัดการโรคให้ได้ข้อมูลคุณภาพสำหรับวางแผนส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม เข้าถึงกลุ่มเสี่ยง และติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ เพื่อประชาชนสุขภาพดี ลดป่วย NCDs อย่างยั่งยืน
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ ห้องประชุมแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมการพัฒนารูปแบบการจัดบริการด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคไม่ติดต่อในชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายแพทย์ภูวเดช สุระโคตร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมงานกว่า 1,000 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุข “คนไทยห่างไกลโรคและภัยสุขภาพ” ที่มุ่งให้ประชาชนห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดีส่งผลให้ปัจจุบันมีประชาชนได้เรียนรู้การนับคาร์บแล้วกว่า 37 ล้านคน หรือประมาณ 75% ของเป้าหมาย 50 ล้านคน ผู้ป่วยที่รับบริการคลินิก NCDs รักษาหาย หายป่วยแล้วประมาณ 20,700 คน หยุดยาได้ 14,700 คน ลดยา 23,600 คน ประหยัดค่าใช้จ่ายได้กว่า 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความสำเร็จนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายสุขภาพในระดับพื้นที่ที่เข้มแข็ง อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) จำนวน 878 อำเภอ ซึ่งมีสาธารณสุขอำเภอ เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่กำกับดูแล อสม.กว่า 1,075,000 คนทั่วประเทศ รวมถึงคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับเขต (พชข.) ในการร่วมขับเคลื่อนนโยบาย
ด้านนายแพทย์ภูวเดชกล่าวว่า การประชุมการพัฒนารูปแบบการจัดบริการด้านการส่งเสริมและป้องกันโรคไม่ติดต่อในชุมชน จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมถึงให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่จัดบริการส่งเสริมและป้องกันโรคติดต่อในชุมชน NCDs Prevention Center และศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ในชุมชน สามารถนำนโยบายไปปฏิบัติ ควบคู่กับการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการจัดการโรค เพื่อให้เกิดการพัฒนาข้อมูลที่มีคุณภาพ ช่วยสนับสนุนการวางแผนและดำเนินการมาตรการส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม เข้าถึงกลุ่มเสี่ยง และสามารถติดตามประเมินผลได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลให้สามารถจัดบริการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเกิดโรค NCDs และภาวะแทรกซ้อนได้อย่างยั่งยืน