วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานในพิธีเปิด “กิจกรรมรณรงค์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเชิงรุก และการอบรม อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนแกนนำ” โดยมี นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้กล่าวรายงาน และได้รับเกียรติจากนายพลกฤษ เรืองสุกใส นายอำเภอทุ่งฝน นางบุญนิภา สงคราม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุ่งฝน ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วม ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุสำคัญมาจากการติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ และมากกว่าร้อยละ 90 จะหายได้เอง มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV นอกจากนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้สตรีไทยที่อายุ 30 ปี ถึงก่อนอายุ 60 ปีทุกคน และในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูง เข้ารับการตรวจคัดกรองทุก 5 ปี การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test เป็นชุดสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทุกคน ทุกสิทธิการรักษาพยาบาล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมาพบว่าสตรีไทยกลุ่มเป้าหมายเข้ารับการตรวจคัดกรองได้น้อย ส่วนหนึ่งมาจากการไม่มารับการตรวจภายใน เนื่องจากกลัวหรือเขินอายในขั้นตอนเก็บตัวอย่าง
นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า จังหวัดอุดรธานีมีการดำเนินการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 14 สายพันธุ์เสี่ยงสูงเชิงรุก ด้วยการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง HPV Self Sampling ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 50,000 ราย และในปี 2567 ที่ผ่านมามีสตรีกลุ่มเป้าหมายได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วร้อยละ 81.74 ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเพิ่มทางเลือกให้สตรีไทยให้สามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ง่ายขึ้น โดยการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง หากผลตรวจพบเชื้อสามารถเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมตามสิทธิการรักษาพยาบาล และวางแผนการรักษาได้ทันท่วงที ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
“สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีการบรรยายให้ความรู้เรื่อง อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิธี HPV DNA Test การสาธิตและแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการเก็บตัวอย่างตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด” นายแพทย์ยงยศ กล่าว