สธ.จัดทำคู่มือใช้ “ยาสมุนไพร” 6 กลุ่มโรค พร้อมติวบุคลากรทางการแพทย์รุ่นแรก เพิ่มความมั่นใจ สั่งจ่ายยาสมุนไพร

กระทรวงสาธารณสุขเผยกรมการแพทย์จัดทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติ ครอบคลุม 6 กลุ่มโรค/อาการ และข้อมูลยาสมุนไพร 17 รายการ พร้อมจัดประชุมอบรมบุคลากรทางการแพทย์รุ่นแรก ช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจและสร้างความมั่นใจในการสั่งจ่ายยาสมุนไพรแทนยาแผนตะวันตก

วันที่ 15 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมเบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ แจ้งวัฒนะ นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรม “การถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รุ่นที่ 1” พร้อมมอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพ โดยมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าร่วม

นายโฆสิต กล่าวว่า ภาพรวมการใช้ยาในหน่วยบริการสาธารณสุขของรัฐ ปีงบประมาณ 2567 มีมูลค่ารวม 70,543 ล้านบาท แบ่งเป็น ยาแผนตะวันตก 68,983 ล้านบาท คิดเป็น 97.79% และยาสมุนไพร 1,560 ล้านบาท คิดเป็น 2.21% กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการต่อยอดภูมิปัญญาไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และยังเป็นการกระจายรายได้สู่เกษตรกร ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และเพิ่มการพึ่งพาตนเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางยาในอนาคต โดยสนับสนุนให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติแทนการใช้ยาแผนตะวันตก โดยเฉพาะการใช้ยาสมุนไพร 32 รายการ ใน 10 กลุ่มอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ 1.แก้ปวดกล้ามเนื้อและข้อ 2.รักษาไข้หวัดและโควิด 19 3.แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ 4.รักษาริดสีดวงทวาร 5.บรรเทาอาการวิงเวียน 6.แก้เบื่ออาหาร 7.บรรเทาอาการท้องเสีย 8.ช่วยเรื่องนอนไม่หลับ 9.แก้อาการชาจากอัมพฤกษ์ อัมพาต และ 10.ใช้ทาผิวหนังและแผล โดยปีงบประมาณ 2568 ได้จัดงบประมาณสนับสนุน 1,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2569 ได้ของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท

นายโฆสิต กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการใช้ยาสมุนไพรไทยในระบบบริการสุขภาพคือ ต้องทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเข้าใจและมั่นใจที่จะใช้ยาสมุนไพรในการดูแลรักษาผู้ป่วย กรมการแพทย์จึงได้จัดทำคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติ (Thai Herbal Medicine In Clinical Practice : Guidebook) โดยมีคณะกรรมการบูรณาการและส่งเสริมการแพทย์แผนไทยร่วมกับการแพทย์แผนตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายโฆสิต สุวินิจจิต คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมการแพทย์ และ ภาคีเครือข่าย โดยมอบหมายให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญครอบคลุม 6 กลุ่มโรค/อาการ ร่วมกันพิจารณารายการยาสมุนไพรที่สามารถทดแทนยาแผนปัจจุบัน โดยอาศัยหลักฐานจากงานวิจัยทางการแพทย์แบบแผนตะวันตก รวมถึงมีการให้ข้อมูลยาสมุนไพรไทย 17 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง มะขามแขก เพชรสังฆาต มะขามป้อม มะแว้ง ยาปราบชมพูทวีป ฟ้าทะลายโจร เถาวัลย์เปรียง ไพล ยาสหัศธารายาประคบ สารสกัดจากกัญชา CBD Enriched สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ชนิดอัตราส่วน THC : CBD เป็น 1:1 พริก ว่านหางจระเข้ และพญายอ

แพทย์หญิงปิยะธิดา หาญสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองวิชาการแพทย์ กล่าวว่า การจัดอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ หลักฐานเชิงประจักษ์ และงานวิจัยทางคลินิกของยาสมุนไพร แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาผู้ป่วย ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและยาสมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล ผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และบริการสุขภาพระดับโลก การอบรมประกอบด้วย การบรรยายทางวิชาการหลักฐานเชิงประจักษ์ของการใช้ยาสมุนไพร เสวนาการใช้ยาสมุนไพรในเวชปฏิบัติในกลุ่มโรคทางผิวหนัง กลุ่มโรคกระดูกและข้อ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาของเขตสุขภาพ โดยผู้เข้าร่วมการอบรม ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร แพทย์แผนไทย นักวิชาการสาธารณสุข และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ยาสมุนไพร
จากโรงพยาบาลทั้งในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกรุงเทพมหานคร สังกัดกรมการแพทย์และโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์จำนวนทั้งสิ้น 80 คน

สำหรับคณะทำงานจัดทำแนวทางการใช้ยาแผนไทยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ กรมการแพทย์ได้ทบทวนและรวบรวมสถานการณ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นำมาจัดทำเป็นร่างคู่มือฯ พร้อมรับฟังความคิดเห็นก่อนปรับปรุงให้มีความเหมาะสม ครอบคลุม 6 กลุ่มโรค/อาการ ประกอบด้วย 1.กลุ่มอาการระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคท้องผูกเรื้อรัง และโรคริดสีดวงทวาร 2.กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ อาการไอ โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน 3.กลุ่มอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ได้แก่ โรคข้อเข่าเสื่อม 4.กลุ่มโรคมะเร็ง ได้แก่ ผิวหนังอักเสบจากการฉายรังสี 5.กลุ่มอาการสมองและระบบประสาท ได้แก่ โรคลมชักรักษายาก อาการเกร็งและอาการปวดจากระบบประสาทส่วนกลางจากโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ และภาวะปวดเหตุพยาธิสภาพประสาท และ 6.กลุ่มอาการทางระบบผิวหนัง ได้แก่ การใช้ว่านหางจระเข้ในการรักษาโรคทางผิวหนัง และการใช้พญายอในการรักษาโรคทางผิวหนัง โดยตัวอย่างยาสมุนไพรที่ใช้รักษา เช่น โรคกระเพาะอาหาร ใช้ยาสมุนไพรขมิ้นชัน ขนาด 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ยาสมุนไพรขิงขนาด 2-4 กรัมต่อวัน หรืออาการไอ ใช้ยาแก้ไอผสมมะขามป้อม จิบเมื่อมีอาการไอทุก 4 ชั่วโมง เป็นต้น