สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 ก.ค. 68 เวลา 7.00 น.

1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (98 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ชัยภูมิ (83 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (48 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (152 มม.) ภาคตะวันตก : จ.เพชรบุรี (41 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (57 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 15 – 18 ก.ค. 68 ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน หลังจากนั้นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นทำให้ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักมากบางแห่ง

2. พื้นที่ประสบอุทกภัย : สถานการณ์อุทกภัย วันที่ 13 ก.ค. 68 ในพื้นที่ 5 จ. 6 อ. ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.พาน) จ.เชียงใหม่ (อ.ฝาง) จ.ลำปาง (อ.วังเหนือ) จ.น่าน (อ.นาน้อย) และ จ.อุตรดิตถ์ (อ.ฟากท่า และน้ำปาด)

3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (46,266 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (22,150 ล้าน ลบ.ม.)
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที

4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (13 ก.ค.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่เป็นประธานการประชุมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ สทนช. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางจังหวัดหนองคาย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ การจัดทำข้อมูลคาดการณ์ ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การวางแผนปรับเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและอ่างเก็บน้ำตามสถานการณ์ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพทางระบายน้ำ เป็นต้น และเพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รองนายกรัฐมนตรีจึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ โดยให้เฝ้าระวังและเผยแพร่สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลในการประสานงานร่วมกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ เพื่อบูรณาการข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ครอบคลุมทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ โดยภายในประเทศ สทนช. จะทำหน้าที่ประสานและอำนวยการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ไขสถานการณ์น้ำหลากและอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้ดำเนินการผ่านกลไกของสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และ สปป.ลาว เพื่อให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำฯ มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการตัดสินใจ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลให้ทุกภาคส่วนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและลดความเสียหายจากอุทกภัยให้ได้มากที่สุด