สทนช. เดินหน้าขับเคลื่อนเชิงรุก บูรณาการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนลุ่มน้ำโขงร่วมกับ สปป.ลาว เร่งพัฒนาต้นแบบโมเดลเพื่อการบริหารการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำอย่างบูรณาการ

วันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานด้านอุทกภัยและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ (Ad Hoc Task Team for Joint Flood and Hydropower Coordination) ครั้งที่ 2 พร้อมด้วย นายชุมลาภ เตชะเสน ผู้ช่วยเลขาธิการ สทนช. ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สทนช. ร่วมด้วย ผู้แทนจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และกรมอุตุนิยมวิทยา ณ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยผู้แทน สปป.ลาว ประกอบด้วย Mr. Phonepaseuth Phouliphanh เลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว พร้อมด้วย ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุตุนิยมวิทยา โดยมีนางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ CEO สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พร้อมเจ้าหน้าที่ MRCS สนับสนุนข้อมูลวิชาการในการประชุม เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการพยากรณ์ฝน (rainfall forecast) การจำลองปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน (inflow simulation) และการจัดทำระบบติดตามและรายงานสถานการณ์น้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างเป็นระบบและประสานสอดคล้องกัน

ในการประชุมดังกล่าว MRCS ได้นำเสนอข้อจำกัดทางเทคนิคของประเทศสมาชิก เช่น ความท้าทายในการจำลองปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน การแลกเปลี่ยนข้อมูลอุทกอุตุนิยมวิทยาที่ครบถ้วน และแผนการระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อการเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำสาขาเข้ากับแม่น้ำโขงสายหลัก พร้อมเสนอแนวคิดการพัฒนาแบบจำลองต้นแบบ (prototype) โดยใช้ข้อมูลคาดการณ์ฝน ร่วมกับแบบจำลองเพื่อประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน และการคำนวณระยะเวลาไหลของน้ำ (Travel Time) ในลำน้ำสาขา เพื่อประเมินผลกระทบต่อแม่น้ำโขงสายหลัก พร้อมยกตัวอย่างการประเมินสถานะปริมาณน้ำเขื่อนน้ำอู 7 แห่ง ของ สปป.ลาว เพื่อเตรียมปรับแผนการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน

สทนช. ได้นำเสนอตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนในประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการร่วมกันกับ สปป.ลาว และ MRCS ในการบริหารจัดการในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยให้ความสำคัญกับการนำข้อมูลคาดการณ์ปริมาณฝนล่วงหน้า 6 เดือน มาใช้ในการจำลองสถานการณ์และประเมินขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำของเขื่อน (water retention capacity) สำหรับวางแผนการปล่อยน้ำล่วงหน้า (pre-release) เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำในเขื่อน การชะลอการระบายน้ำ (delayed release) จากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และการบริหารจัดการเขื่อนหลายแห่งแบบประสานงาน (Cooperative Multiple Dam Operation) เพื่อควบคุมระดับน้ำในลำน้ำสาขา ซึ่งดำเนินการควบคู่ไปกับการกำหนดเกณฑ์ความจุน้ำสูงสุดของลำน้ำสาขาแม่น้ำโขง เพื่อใช้ร่วมกับระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง

ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า “ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการคาดการณ์ล่วงหน้าและแบบจำลองในการประเมินศักยภาพการกักเก็บน้ำและความปลอดภัยของเขื่อน เพื่อรองรับการระบายน้ำในฤดูฝน โดยได้ขอความร่วมมือจาก สปป.ลาว ในการแบ่งปันข้อมูลการบริหารจัดการเขื่อน โดยเฉพาะแผนในระยะสั้น เพื่อพัฒนาแบบจำลองร่วมกัน และไทยยินดีแบ่งปันข้อมูลในส่วนของไทยด้วยเช่นกัน และได้เร่งรัดให้ MRCS พัฒนาแบบจำลองต้นแบบตามที่นำเสนอไว้ ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว”

ผลจากการประชุมครั้งนี้ประเทศไทย และ สปป.ลาว ได้มีมติเห็นชอบแนวทางความร่วมมือในลำดับถัดไปได้แก่ การจัดประชุมระดับประเทศเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลร่วมด้านอุทกวิทยาและเขื่อน การเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิเคราะห์ความเสี่ยงอุทกภัย และการจัดทำร่างแผนความร่วมมือบริหารจัดการการระบายน้ำจากเขื่อน ที่ใช้ข้อมูลคาดการณ์ฝนร่วมกับ
การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ real-time