จากกระแสข่าวเรื่องความล่าช้าในการดำเนินการรับรองมาตรฐาน GACP ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ข้อกังวลเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่ ล่าสุด นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงและยืนยันความมุ่งมั่นในการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ของประเทศอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
นายแพทย์เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ยืนยันว่า มาตรฐาน GACP เป็นมาตรฐาน ใช้ในการประเมินและรับรองการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการประกันถึงความมีคุณภาพและความปลอดภัยของช่อดอกกัญชาในการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ให้มั่นใจว่าช่อดอกกัญชาที่ออกสู่ตลาดมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล ปราศจากสารปนเปื้อน และปลอดภัยต่อบริโภค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แม้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้กำหนดและรับรองใช้มาตรฐาน GACP เป็นหลักโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าซึ่งกรมยอมรับเช่นเดียวกัน เช่น Organic Thailand EU GMP GLOBAL GAP และ/FOAM หรือแม้กระทั่ง GAP สมุนไพร ที่กรมวิชาการเกษตรรับรอง ซึ่งแต่ละมาตรฐานก็มีข้อกำหนดและวิธีการตรวจประเมินแตกต่างกันไปโดยทุกครั้งที่มีการเก็บเกี่ยวจะต้องมีผลการตรวจวิเคราะห์ถึงคุณภาพและความปลอดภัยของช่อดอกแสดงต่อผู้นำไปจำหน่าย ต่อหรือผู้บริโภคอย่างเปิดเผยตามมาตรฐานซึ่งเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการอาหารและยา
ดร.เภสัชกร ปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร ซึ่งรับผิดชอบในการตรวจประเมิน GACP กล่าว ว่า กัญชามีศักยภาพสูงในการเป็นทางเลือกในการรักษาโรคและดูแลสุขภาพภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม ทุกขั้นตอนการดำเนินงานของกรมฯ กระทำโดยความโปร่งใส ปัจจุบัน มีฟาร์มผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับรอง GACP อยู่ในระบบทั้งหมด 73 แห่ง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเอกสาร จำนวน 36 แห่ง และ กลุ่มที่อยู่ในขั้นตอนการลงตรวจสอบพื้นที่จำนวน 37 แห่ง โดยกรมฯ คาดว่าลงตรวจสอบพื้นที่แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 สิงหาคม 2568 นี้
ส่วนประเด็นความล่าช้าที่พบ เช่นเรื่องการจัดทำเอกสารคู่มือการปฏิบัติงาน และข้อกำหนดมาตรฐาน GACP ทำให้ไม่สามารถแก้ไขเอกสารให้สอดคล้องกับมาตรฐานได้ , สถานที่ปลูกไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงจำเป็นต้องดำเนินการปรับปรุงสถานที่และรายงานการปลูกและการเก็บเกี่ยว ซึ่งอาจใช้เวลานาน หรือแม้แต่กรณีที่ผู้ประกอบการบางรายเลิกดำเนินกิจการไปแล้ว แต่ไม่มีการแจ้งยกเลิกคำขอรับรองมาตรฐาน ทำให้คำขอยังคงค้างอยู่ในระบบ
สำหรับค่าใช้จ่ายในการขอรับรองมาตรฐาน GACP นั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด ดังนี้ ค่าตรวจเอกสาร SOP ต่อระบบการเพาะปลูก ระบบละ 5000 บาท ค่าตรวจประเมินต่อแปลงครั้งละ 30,000 บาท ซึ่งไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักของผู้ตรวจประเมินจำนวนสามคน ซึ่งผู้ประกอบการรับผิดชอบเอง และใบรับรองจะมีอายุ 3 ปี
ดร.เภสัชกร ปรีชา ผู้อำนวยการกองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร เปิดหลักเกณฑ์และกระบวนการตรวจประเมินเพื่อ รับรองมาตรฐานฟาร์มกัญชาตามแนวทาง GACP (Good Agricultural and Collection Practices) โดยได้จัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบเอกสาร SOP หรือReviewer และ ผู้ตรวจประเมิน หรือ Auditor ภายใต้กรอบจริยธรรมที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถให้เป็น ผู้ให้คำปรึกษา หรือ Consultant เพื่อให้การสนับสนุนแก่สถานประกอบการและฟาร์มที่ประสงค์จะยกระดับคุณภาพตามมาตรฐาน GACP โดยรายชื่อผู้ให้คำปรึกษาจะเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกต่อไป เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบได้โดยสะดวก สำหรับการให้บริการคำปรึกษานั้น ถือเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้ประกอบการเอง กรมฯ มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องค่าใช้จ่ายหรือเงื่อนไขใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการตกลงระหว่างกัน
ซึ่งกระบวนการตรวจประเมินรับรองมาตรฐานฟาร์มกัญชามาตรฐาน GACP ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตรวจเอกสาร และ SOP ผู้ประกอบการเตรียมแปลงปลูกให้ได้ตามมาตรฐาน ในแต่ละระบบ เช่น การเพาะปลูกในโรงเรือนระบบปิด การเพาะปลูกในGreenhouse หรือการเพาะปลูกแบบระบบเปิด และจัดทำเอกสาร SOP แบบลงทะเบียน รับรอง ส่งมาที่กรม มีระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสาร 2 วัน ต่อระบบ
Reviewer คนที่ 1 – ตรวจพบข้อบกพร่องในเอกสาร แจ้งให้ผู้ประกอบการแก้ไข ในกรณีที่ไม่พบข้อบกพร่องหรือแก้ไขแล้วสมบูรณ์แล้ว ส่งทีมลงตรวจประเมินแปลงปลูกในพื้นที่ หากอ่านเฉพาะส่วนที่แก้ไขแล้วยังมีข้อบกพร่องอยู่ ส่งให้ Reviewer คนที่ 2 อ่านเฉพาะที่แก้ไข
Reviewer คนที่ 2 – อ่านเฉพาะที่แก้ไขแล้วมีความเห็นว่าสมบูรณ์ ส่งต่อให้ทีมลงตรวจประเมินแปลงปลูกในพื้นที่ ในกรณีที่อ่านเฉพาะที่แก้ไขแล้วยังมีข้อบกพร่องอยู่ให้จัดทำเอกสารใหม่หมด ส่งมาลงทะเบียนใหม่
ขั้นตอนที่ 2 การตรวจประเมินแปลงปลูก ในพื้นที่ จำนวนผู้ตรวจประเมิน (Auditor) จำนวน 3 คนต่อ 1 ทีม กำหนดระยะเวลา 1 วัน ต่อระบบ
ทีมที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจ หากตรวจผ่านเสนอออกใบรับรอง พบข้อบกพร่อง แจ้งให้แก้ไข ไม่เกินระยะเวลา 30 วัน หากแก้ไขสำเร็จ เสนอออกใบรับรอง หากแก้ไขไม่ถูกต้อง หรือไม่สำเร็จ ส่งต่อทีมตรวจประเมินทีมที่ 2
ทีมที่ 2 ลงพื้นที่ตรวจเฉพาะข้อบกพร่องที่ทีมที่ 1 ระบุไว้ หากมีความเห็นตรงกันกับทีมที่ 1 ให้แก้ไขภายใน 15 วัน หากไม่มีการแก้ไขในเวลากำหนด→ ลงทะเบียนขอตรวจประเมินรับรองใหม่ ในกรณี ทีมที่ 2 มีความเห็นขัดแย้งกับทีมที่ 1 ให้ผ่าน เสนอออกใบรับรอง
กรมฯ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการทุกท่าน ที่ยังสับสนหรือมีข้อสงสัยในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตหรือการ รับรองมาตรฐานการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีจากกรม โดยดาวน์โหลดเอกสารเพื่อเรียนรู้หรือสามารถเรียนรู้การปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาทางการแพทย์จากระบบ e-Learning ในเวบไซต์ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือโทรศัพท์ 02-149-5607