วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เผยว่า จากที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ให้ความเห็นชอบการขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2534 เรื่อง รายงานการศึกษาสถานภาพปัจจุบันของป่าไม้ชายเลนและปะการังของประเทศ วันที่ 22 สิงหาคม 2543 เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน และเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2543 เรื่อง มติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2543 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อให้โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 702 ตอนบ้านบางควาย – บ้านเขาดิน (สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง) ตำบลท่าสะอ้านและตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ของกรมทางหลวง ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี เนื้อที่ 1-1-231 ไร่ นั้น
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า พื้นที่ที่ขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นพื้นที่บริเวณใต้สะพานโครงการฝั่งตำบลเขาดิน จำนวน 89.60 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน จึงจำเป็นต้องขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ป่าชายเลน ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว จึงไม่ขัดข้องกับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงที่เชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 3702 ไปยังทางหลวงหมายเลข 314 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางให้กับประชาชน สามารถรองรับปริมาณการจราจรจากการขยายตัวของชุมชนและการคมนาคมขนส่งในอนาคตได้ อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการคมนาคมขนส่งให้แก่ประชาชน
“และเมื่อ ครม. ได้มีมติให้ความเห็นชอบแล้ว สิ่งที่ทางหน่วยงานเจ้าของโครงการฯ ต้องดำเนินการต่อไปอย่างเคร่งครัดคือ การดำเนินการตามระเบียบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในการปลูกป่าทดแทนเพื่อการอนุรักษ์หรือรักษาสภาพแวดล้อม ไม่น้อยกว่า 20 เท่าของพื้นที่ป่าชายเลนที่ใช้ประโยชน์ โดยกรมทางหลวงและ ทช. จะต้องมีการพิจารณาร่วมกันเพื่อจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับการปลูกและบำรุงป่าทดแทนต่อไป โดยในส่วนนี้ได้มอบหมายให้ ทช. เร่งรัดดำเนินการพร้อมนำเสนอข้อมูลการปลูกและบำรุงป่าชายเลนทดแทนให้ประชาชนได้รับทราบต่อไปเป็นระยะ นอกจากนี้ อีกส่วนที่สำคัญคือ การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากเจ้าของโครงการฯ หรือกรมทางกลวง ตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อประชาชน เป็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่เกิดความสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม“ ดร.เฉลิมชัย รมว.ทส. กล่าว