กรมประมง..เปิดหลักสูตรฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคการเพาะเลี้ยงม้าน้ำในโรงเพาะฟัก” ระหว่างวันที่ 7–9 กรกฎาคม 2568 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำสู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ ให้เกษตรกรนำไปต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อรองรับความต้องการของตลาด พร้อมได้สนับสนุนพันธุ์ม้าน้ำสำหรับนำร่องทดลองเลี้ยงในพื้นที่จริง โดยจะติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนารูปแบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และขยายผลในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อลดความเสี่ยงจากการสูญพันธุ์ในธรรมชาติ และช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศทะเลไทยให้ยั่งยืน
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมและมอบนโยบายขับเคลื่อนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดใหม่ ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ว่า กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ได้ศึกษาการเพาะพันธุ์ม้าน้ำผ่านการดำเนินโครงการวิจัยด้านเทคนิคการเพาะเลี้ยงและอนุบาลม้าน้ำ จากการสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ตั้งแต่ปี 2566 ต่อเนื่องจนถึงปี 2568 โดยมีเป้าหมายหลักที่สำคัญทั้งด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรม้าน้ำในธรรมชาติที่มีปริมาณลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ให้กลับคืนสู่สมดุลของระบบนิเวศ และสนับสนุนการต่อยอดองค์ความรู้สู่การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ เพื่อผลักดันให้ม้าน้ำก้าวขึ้นเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูงของไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในการสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สอดคล้องกับนโยบายของ
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูง และการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร เพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ สร้างรายได้ เสริมความเข้มแข็งให้เกษตรกร และยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยใช้หลักการ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ รวมถึง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ที่ได้มุ่งผลักดันให้เกิดการเพาะเลี้ยงม้าน้ำเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการปรับปรุงและประกาศใช้ “ระเบียบกรมประมงว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนสถานเพาะพันธุ์สัตว์ป่าที่เป็นสัตว์น้ำตามบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) พ.ศ. 2568” ซึ่งส่งผลโดยตรงให้การขึ้นทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อการค้า ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาไซเตสสามารถทำได้ง่ายและชัดเจนขึ้น สร้างความมั่นใจให้เกษตรกรสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาฯ
สำหรับการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “เทคนิคการเพาะเลี้ยงม้าน้ำในโรงเพาะฟัก” ในครั้งนี้ จึงเป็นการนำองค์ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์และอนุบาลม้าน้ำในโรงเพาะฟักภายใต้ฐานงานวิจัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเพาะพันธุ์ม้าน้ำ มาถ่ายทอดให้เกษตรกรผู้สนใจและมีความพร้อม จำนวนกว่า 20 ราย ได้นำไปขยายผลต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยการฝึกอบรมมีทั้งภาคบรรยายและภาคปฏิบัติ ซึ่งเนื้อหาการฝึกอบรมครอบคลุมหัวข้อสำคัญ อาทิ ชีววิทยาของม้าน้ำ เทคนิคการเพาะเลี้ยง การจัดการคุณภาพน้ำ และโรคสัตว์น้ำ การผลิตอาหารมีชีวิตสำหรับเลี้ยงและอนุบาล วัสดุอุปกรณ์และสถานที่สำหรับการเพาะพันธุ์และอนุบาล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีวิทยากรจากหน่วยงาน
ในสังกัดกรมประมง ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งพังงา กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง และกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ พร้อมฝึกปฏิบัติจริงในโรงเพาะฟัก เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ทันทีหลังจบการอบรม โดยกรมประมงจะมีการติดตามผลต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับการประเมินศักยภาพของระบบการเลี้ยงในระดับฟาร์มตามสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะสามารถพัฒนาไปสู่ระบบการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่มีประสิทธิภาพต่อไป
“กรมประมง…เชื่อมั่นว่า การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงม้าน้ำในโรงเพาะฟักภายใต้ฐานองค์ความรู้จากงานวิจัยที่ถูกต้อง และการสนับสนุนด้านกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการวางรากฐานสู่การพัฒนาระบบการเลี้ยงเชิงพาณิชย์ที่ยั่งยืนในอนาคต ซึ่งไม่เพียงช่วยลดการจับม้าน้ำจากธรรมชาติจนเกินสมดุล แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ให้แก่เกษตรกรไทยในการสร้างอาชีพจากสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่มีมูลค่าสูง และมีศักยภาพในการเติบโตในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลไทยอย่างยั่งยืน” รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย