1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (47 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ (41 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (26 มม.) ภาคกลาง : จ.สระบุรี (38 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (66 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (128 มม.)
วันนี้ : หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 10 – 12 ก.ค. 68 ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากจะมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบน ภาคเหนือตอนบน ประเทศลาวตอนบน และประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศจีนตอนใต้จะเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านในบริเวณดังกล่าว ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย พายุโซนร้อน “ดานาส” บริเวณทะเลจีนตะวันออก คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีน ในช่วงวันที่ 8 – 9 ก.ค. 68 โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
2. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (45,853 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 37% (21,737 ล้าน ลบ.ม.)
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (7 ก.ค. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 8/2568 โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยที่ประชุมเปิดเผยว่าปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ในขณะที่พื้นที่ภาคกลางจะมีปริมาณฝนลดลง และจะกลับมามีฝนมากกว่าค่าปกติอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน อีกทั้งจะมีปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาสมทบในช่วงเวลาเดียวกัน
จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยในที่ประชุมได้มีการเน้นย้ำให้ใช้ระบบเตือนภัยในทุกรูปแบบ ทั้งการแจ้งเตือนผ่าน Cell Broadcast (CB) การใช้หอกระจายข่าว วิทยุชุมชน ไปจนถึงการสื่อสารผ่านเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด และในที่ประชุมได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวมถึงแหล่งน้ำสำคัญต่าง ๆ เพื่อเตรียมพื้นที่ว่างรองรับน้ำหลาก ช่วยชะลอน้ำและหน่วงน้ำในพื้นที่ท้ายอ่างเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ติดตามและปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้คาดการณ์สถานการณ์แม่น้ำโขงพบว่าจะมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งในช่วงกลางเดือน ก.ค. – ส.ค. นี้ และส่งผลกระทบต่อ 4 จังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดหนองคาย นครพนม บึงกาฬ มุกดาหาร และพื้นที่บางส่วนของสปป.ลาว ทั้งนี้ สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMCS) จึงได้ดำเนินการเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้า โดยเสนอจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานด้านอุทกภัยและโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงร่วมกับ สปป.ลาว และ MRCS ซึ่งจะมีการประชุมหารือครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 ก.ค. 68 นี้