นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า ผลักดันให้รัฐบาลจัดงบประมาณ งบกลางเร่งด่วน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวน 97,817,400 บาท ให้แก่กรมประมง เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหา ภายใต้ 2 มาตรการหลัก ดังนี้ มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด จำนวน 92,004,056 บาท และมาตรการที่ 2 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ จำนวน 5,813,344 บาท โดยกรมประมงได้ดำเนินการจัดสรรโควตาให้กับทางจังหวัด เพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2568 ผ่านจุดรับซื้อในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา แบ่งเป็นราคารับซื้อปลาหมอคางดำ 15 บาท/กิโลกรัม (จ่ายให้กับชาวประมงหรือผู้จับปลามาขาย) และราคาค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการรวบรวม 5 บาท/กิโลกรัม (จ่ายให้กับผู้รวบรวมหรือแพปลาที่เข้าร่วมโครงการฯ)
ในช่วงที่ผ่านมา กรมประมงได้รับซื้อปลาหมอคางดำจากบ่อเพาะเลี้ยงของเกษตรกรและจากธรรมชาติ และได้จัดส่งให้กรมพัฒนาที่ดินและการยางแห่งประเทศไทยนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อในภาคเกษตร รวมแล้วกว่า 2,802,345 กิโลกรัม จากเป้าหมาย 3,000,000 กิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2568) ซึ่งในหลายจังหวัดได้ดำเนินการรับซื้อปลาหมอคางดำจนเต็มโควตาที่ได้รับเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดชุมพร และจังหวัดที่กำลังจะเต็มจำนวนที่รับซื้อ ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดเพชรบุรี กรมประมงได้เล็งเห็นว่าพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด ยังคงมีปลาหมอคางดำค้างอยู่ในพื้นที่อีกพอสมควร จึงจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อขยายโควตาในการรับซื้อปลาหมอคางดำ จำนวน 600,000 กิโลกรัม ในวงเงิน 12,000,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะเริ่มรับซื้อได้อีกครั้งภายในเดือนกรกฎาคม 2568 และมีรายละเอียดดังนี้
- สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดสรรโควตาการรับซื้อเพิ่ม 190,000 กิโลกรัม
- สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับการจัดสรรโควตาการรับซื้อเพิ่ม 50,000 กิโลกรัม
- สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับการจัดสรรโควตาการรับซื้อเพิ่ม 190,000 กิโลกรัม
- สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับการจัดสรรโควตาการรับซื้อเพิ่ม 100,000 กิโลกรัม
- สำนักงานประมงจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการจัดสรรโควตาการรับซื้อเพิ่ม 50,000 กิโลกรัม
- สำนักงานประมงจังหวัดชุมพร ได้รับการจัดสรรโควตาการรับซื้อเพิ่ม 20,000 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่ที่มีโควตารับซื้อเหลืออยู่นั้น เกษตรกร ประชาชน ยังสามารถนำปลาหมอคางดำมาขายได้ต่อไปจนกว่าจะเต็มจำนวนตามที่กำหนด หรือถึงวันที่ 30 กันยายน 2568 เว้นแต่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดราชบุรี ที่มีการยุติการรับซื้อ เนื่องจากสถานการณ์ในพื้นที่พบว่ามีการระบาดค่อนข้างเบาบาง ไม่เหลือปริมาณมากพอที่จะนำมาขายให้กับแพรวบรวม รวมถึงเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่มีการนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนส่งผลให้ไม่มีปลาเข้าสู่แพรับซื้อ ทั้งนี้ หากเกษตรกร ประชาชน ต้องการนำปลามาขาย สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่