ผลิตภัณฑ์สารสกัดเถาวัลย์เปรียงขององค์การเภสัชกรรม ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ประจำปี 2568 (Premium Herbal Products 2025) จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ประจำปี 2568
วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 ภญ.ยุวพร ศรีน้อย ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เข้ารับเกียรติบัตรรางวัลเชิดชูเกียรติผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ จากนายโฆสิต สุวินิจจิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ และการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 22 ณ ฮอลล์ 11-12 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า รางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ ประจำปี 2568 (Premium Herbal Products 2025) ที่องค์การฯ ได้รับเป็นผลิตภัณฑ์แคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียง 2 รายการ ได้แก่ จีพีโอ เถาวัลย์เปรียง (แคปซูล 200 มิลลิกรัม) และ จีพีโอ เถาวัลย์เปรียง (แคปซูล 400 มิลลิกรัม) ซึ่งได้รับการคัดเลือกใหม่ และมีอายุการรับรองเป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี พ.ศ.2568 – 2570) ซึ่งเป็นสมุนไพรคุณภาพจากองค์การเภสัชกรรม โดยรางวัลที่องค์การฯ ได้รับในครั้งนี้ เกิดจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้คัดเลือกผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรไทย ทำให้ประชาชนได้รู้จัก ทำให้เกิดความเชื่อมั่น มีความชอบและอยากใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากขึ้น
สมุนไพรเถาวัลย์เปรียง สรรพคุณทางยาตามภูมิปัญญาไทย เถาเป็นยาแก้กระษัย แก้เส้นเอ็นขอด ทำให้เส้นอ่อนและหย่อนดี ช่วยขับปัสสาวะ เถาหั่นตากแห้งคั่วไฟ ชงดื่มแทนชา ใช้แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ องค์การฯ นำมาวิจัยพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียง และขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทยาพัฒนาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ จีพีโอ เถาวัลย์เปรียง แคปซูล (400 mg) ใน 1 แคปซูล ประกอบด้วยสารสกัดเถาวัลย์เปรียง 400 mg ข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม และ จีพีโอ เถาวัลย์เปรียง แคปซูล (200 mg) โดยใน 1 แคปซูล ประกอบด้วยสารสกัดเถาวัลย์เปรียง 200 mg ข้อบ่งใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างและบรรเทาอาการปวดเข่าจากข้อเข่าเสื่อม นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์แคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียงทั้ง 2 รายการ ยังได้รับการบรรจุเป็นรายการยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร สามารถเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนได้มากขึ้น