สธ. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ จัดโครงการคนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงระยะเริ่มต้น คาดลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ถึง 3 ล้านล้านบาท

กระทรวงสาธารณสุข เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดโครงการ“คนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ภายใต้โครงการป้องกันโรคไตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” ค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไตวายเรื้อรัง และคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของไตและลดการเกิดภาวะไตวาย รวมทั้งสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพไต คาดช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ถึง 3 ล้านล้านบาท

วันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ที่ โรงพยาบาลปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรม Kick off โครงการคนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายคมสัน ญาณวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 คณะผู้บริหาร และอสม. เข้าร่วมกว่า 1,000 คน

นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมนำพระราโชวาทในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี คณะกรรมการบริหารมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ความตอนหนึ่งว่า “การรณรงค์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องอาหารและโภชนาการ ตลอดจนวิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคไต เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตลงได้” มาดำเนินการ โดยจัดทำโครงการ “คนไทย 7.2 ล้านคน รู้ค่าความเสี่ยงโรคไตภายใต้โครงการป้องกันโรคไต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568” เพื่อค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงและคัดกรองตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยชะลอความเสื่อมของไตและลดโอกาสการเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพไตและเข้าถึงการตรวจคัดกรองอย่างทั่วถึง

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ประมาณ 1,120,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวอย่างมาก ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองเพื่อให้ รู้ค่าความเสี่ยงโรคไตตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้สามารถควบคุมและชะลอการดำเนินของโรค ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการรักษาและดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดโรคไตวายเรื้อรัง ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง นิ่วในไต เก๊าท์ และผู้ป่วยที่มีประวัติซื้อยาชุดหรือยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDS กินเป็นประจำ ในทุกเขตสุขภาพ ซึ่งมีประมาณ 7.2 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อให้รู้ค่าความเสี่ยงและตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพไต ช่วยลดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนไตรายใหม่ ที่มีเฉลี่ยปีละ 17,000 ราย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการบำบัดทดแทนไตคนละ 220,000 – 280,000 บาทต่อปี และลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในระยะยาวได้ถึง 3 ล้านล้านบาท โดยนำร่องที่เขตสุขภาพที่ 4 จังหวัดปทุมธานี เป็นพื้นที่แรก