กรมอนามัย – Ludwig-Maximilians University Munich – ม.มหิดล – จุฬาฯ ร่วมทำ E-learning โภชนาการ 1,000 วันแรกของชีวิต

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ Ludwig-MaximiliansUniversity,Munich มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำการเรียนรู้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) องค์ความรู้ด้านโภชนาการ 1,000 วันแรกของชีวิตEarly Nutrition eAcademy Southeast Asia (ENeA-SEA) ฉบับภาษาไทย เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะของผู้เรียนในการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่กลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย รวมทั้งผู้เลี้ยงดูให้ได้รับการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม

วันที่ 26 กันยายน 2562 แพทย์หญิงพรรณพิมล  วิปุลากร  อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังงานแถลงข่าว “ครั้งแรกของวงการแพทย์อาเซียน E-learning องค์ความรู้โภชนาการ 1,000 วันแรกของชีวิต (The first in SEA : early life nutrition e-learning for healthcare professionals)” ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ ชั้น 12 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ว่า กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ Ludwig-Maximilians University,Munic มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำการเรียนรู้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-learning) องค์ความรู้ด้านโภชนาการ 1,000 วันแรกของชีวิต Early Nutrition eAcademy Southeast Asia (ENeA-SEA) ฉบับภาษาไทยขึ้น เพื่อขยายจำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องหรือผู้สนใจให้เข้าถึงบทเรียนมากขึ้น เพิ่มพูนความรู้และทักษะของผู้เรียน รวมทั้งการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่กลุ่มสตรีและเด็กปฐมวัย และผู้เลี้ยงดูเด็กให้ได้รับการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม ที่ผ่านมากรมอนามัยดำเนินงานส่งเสริมโภชนาการแม่และเด็กจนทำให้สถานการณ์ภาวะโภชนาการของแม่และเด็กในภาพรวมมีแนวโน้มดีขึ้น โดยในเด็กต่ำกว่า 5 ปี พบว่า มีภาวะเตี้ยลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 16.4 ลดลงเหลือ ร้อยละ 10.5 ในปี 2559 ส่วนภาวะผอมและอ้วนมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 6.7 เป็น 5.4 และร้อยละ 10.9 เป็น 8.2 ตามลำดับ แต่ยังพบปัญหาที่ยังเป็นความท้าทายอยู่ เช่น การสำรวจขององค์การยูนิเซฟที่พบความชุกของน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 7.6 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 9.4 ในปี 2559 รวมทั้งอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คือจากเดิมร้อยละ 12.3 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 23.1 ในปี 2559 แต่ยังถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายโลกด้านโภชนาการ (global nutrition targets)  ดังนั้นการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ตั้งแต่ในช่วงแรกของชีวิต ซึ่งเป็น  ช่วงสำคัญของการเจริญเติบโตทางร่างกาย รวมทั้งการพัฒนาการด้านสติปัญญา และอารมณ์ จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจและให้ความสำคัญด้านโภชนาการในการถ่ายทอดความรู้

“สำหรับประโยชน์ของหลักสูตรดังกล่าวแบ่งได้ 3 ระดับ คือ 1) ระดับผู้เรียน จะได้รับความรู้และทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรม วางแผนโครงการ รวมทั้งการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องแก่ประชาชนกลุ่มสตรีและ    เด็กปฐมวัยได้รับการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนเรียนที่สอบผ่านแต่ละ module สามารถนำไปยื่นขอเก็บหน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่อง ได้ทั้ง Continuing Medicine Education; CME รวมทั้ง Continuing Nursing Education Unit; CNEU ด้วยในอนาคต 2) ระดับองค์กร บุคลากรในองค์กรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ ความเข้าใจด้านโภชนาการช่วงแรกของชีวิตที่จะช่วยให้การดำเนินงานส่งเสริมโภชนาการสตรีและเด็กเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่แพทย์เท่านั้น พยาบาลหรือบุคลากรผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของสตรีและ เด็กปฐมวัยก็สามารถเข้าร่วมพัฒนาตนเองด้วยหลักสูตรนี้ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และ3) ระดับประชาชน ผู้มารับบริการจะได้รับการดูแลและการให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง เหมาะสมตามมาตรฐานวิชาการ ทั้งนี้ กรมอนามัยได้จัดทำบทเรียนฉบับภาษาไทยมุ่งขยายผลให้บุคลากรสาธารณสุขหรือบุคคลที่สนใจเข้าถึงบทเรียนได้ง่ายขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพทารกและส่งเสริมให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีในอนาคตต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในทีสุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 26 กันยายน 2562