“ครูโอ๊ะ หนุน“ Children in Street “ สแกนหาเด็กเปราะบางบนท้องถนน กลับสู่ระบบการศึกษาลดเหลื่อมล้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร!!

 

ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมแนะนำโครงการ Children in Street เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนบนท้องถนนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 กันยายน 2562 ณ ห้องจูปีเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ว่า “ กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเดินหน้านโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยใช้กลไกกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ. มาบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยจัดการศึกษาต่างๆ ของกระทรวงฯ ในทุกระดับการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ระดับก่อนอนุบาล อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา รวมไปถึงการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัเพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือพัฒนาให้มีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดและศักยภาพที่แตกต่างกัน สามารถพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ โดยไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เพื่อให้การดำเนินการในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กสศ. และภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูกศน.ที่มีอยู่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในการช่วยกันสำรวจ ค้นหา และให้ความช่วยเหลือ ซึ่งกลไกสำคัญในการทำงาน คือ รูปแบบครูข้างถนนและคนทำงานกับเด็กบนท้องถนน ซึ่งเป็นคนที่เข้าใจปัญหาเด็กและรู้จักเด็กเป็นอย่างดี จึงจำเป็นต้องดึงกลุ่มครูเหล่านี้มาร่วมกันทำงาน และขยายเครือข่ายการทำงานให้กว้างขวางขึ้น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพที่จำเป็นของครูเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างศักยภาพกลุ่มเด็กบนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การดำเนินงานโครงการ Children in Street ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษา (SDG4) ที่ทั่วโลกได้ให้พันธสัญญาร่วมกันว่าภายในปี 2030 จะร่วมกันจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กเยาวชนทุกคนได้ครบ 100% การบรรลุเป้าหมาย SDG4 นี้จะยังช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย SDG อื่นๆ ทั้ง 17 ข้อได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญจะช่วยให้ประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เช่นกัน “ ดร.กนกวรรณ กล่าว

ด้านนายพัฒนะพงษ์​ สุขมะดัน​ ผู้ช่วยผู้จัดการ​ กสศ. กล่าวว่า “กสศ.ได้สร้างนวัตกรรมการจัดการที่มีประสิทธิภาพ​ เพื่อสนับสนุน​ ศธ.และองค์กรหลักในระบบการศึกษา มุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และส่งต่อให้หน่วยงานรับผิดชอบหลักนำไปขยายผลเกิดความยั่งยืน​ เพื่อให้จังหวัดมีขีดความสามารถที่จะดำเนินการปฏิรูปการศึกษาหรือจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนได้เองในระยะยาว โดย​ กสศ. ได้สนับสนุนการดำเนินงานในจังหวัดนำร่อง 20​ จังหวัดกระจายอยู่ทุกภูมิภาค​ อย่างไรก็ตาม แนวทางการดำเนินงานจากจังหวัดนำร่องอาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ​ ได้​ เนื่องจากเป็นเมืองขนาดใหญ่ที่บริบทต่างกัน​ และมีความซับซ้อนของปัญหา​ จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการดำเนินงานที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ

“ที่ผ่านมา​ กสศ.ได้ริเริ่มโครงการเสริมความพร้อมส่งน้องไปโรงเรียน​ เพื่อให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่พักอาศัยบริเวณริมทางรถไฟยมราช​ และใช้ชีวิตบนถนน  เช่น​ ขายมาลัยตามสี่แยกหรือ ขอทานบนถนนในกรุงเทพฯ​ จำนวน​ 81​ คน​ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการกลับไปสู่โรงเรียนของเด็กกลุ่มนี้​ และเป็นจุดเริ่มตันของความร่วมมือในการพัฒนแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มเด็กบนห้องถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ​ ที่มีแนวโน้มจะหลุดออกนอกระบบการศึกษา” นายพัฒนะพงษ์​ กล่าว

นายกุลธร​ เลิศสุริยะกุล​ ประธานเครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน และนายกสมาคมส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผู้รับผิดชอบโครงการ​ Chldren in Street ในพื้นที่​กรุงเทพฯ​ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้เกิดจากความต้องการที่จะทราบจำนวนของเด็กเร่ร่อน​ หรือเด็กที่ใช้ชีวิตตามท้องถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ​ แล้วนำตัวเลขและรูปแบบปัญหาที่พวกเขาประสบอยู่มาออกแบบวิธีการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม​ โดยใช้ครู​ กศน. ในกรุงเทพฯ​ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดประมาณ​ 700​ คน​ เป็นผู้สำรวจและบันทึกข้อมูลโดยใช้​ Google Form เพื่อให้รวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้งานได้หลายรูปแบบ​ ก่อนจะโอนข้อมูลที่ได้ไปยังระบบ ThaiOOSCIS ซึ่ง​ กสศ.เคยออกแบบขึ้น​ โดยโครงการนี้จะใช้เวลาในการสำรวจพร้อมทั้งสรุปและประเมินสถานการณ์ประมาณ​ 60​ วัน”