ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (HTA) ติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการไทยเพื่อเจาะตลาดอาหารแดนโสมขาว

ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (Honorary Trade Advisor to the Ministry of Commerce: HTA) Mr. Stanley Park แนะกลยุทธ์การเจาะตลาดอาหารในเกาหลี หวังติดอาวุธเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทย ในงานสัมมนาเสริมสร้างความรู้ทางการค้าสินค้าอาหารไทยสู่สากล พร้อมให้คำปรึกษารายตลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมคู่ขนานภายในงานแสดงสินค้า THAIFEX 2018

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จัดงานสัมมนาเสริมสร้างความรู้ทางการค้าสินค้าอาหารไทยสู่สากลครอบคลุมหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากไทยและต่างประเทศในช่วงวันเจรจาการค้างานแสดงสินค้า THAIFEX 2018 (วันที่ 29-31 พฤษภาคม 2561) โดยในวันที่ 29 พฤษภาคม 2561  ที่ผ่านมา Mr. Stanley Park ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์และผู้นำเข้าสินค้าอาหารรายใหญ่ของเกาหลี ได้ให้เกียรติเข้าร่วมบรรยายให้ความรู้ด้านการตลาดการสร้างสรรค์สินค้าอาหารไทยในตลาดเกาหลีใต้ ภายใต้หัวข้อ Creative Lab for Thai Foods to the World Cuisine” มีผู้สนใจเข้าฟังถึงกว่า 250 ราย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้ารับคำปรึกษาและแนะนำเป็นรายบริษัท (Individual Consultation) ด้วย

Mr. Park ได้กล่าวถึงการสร้างสรรค์สินค้าอาหารไทยสู่สากล โดยสิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องเข้าใจแนวโน้มผู้บริโภคในแต่ละตลาด “ทุกท่านควรต้องทราบวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของแต่ละประเทศว่าชื่นชอบการทานอาหารในแบบใด รวมถึงต้องทราบว่าแต่ละชนชาตินั้นมักรับประทานอะไรเป็นเครื่องเคียงหลัก เช่น ในเกาหลีมักนิยมทานอาหารคู่กับกิมจิ ซึ่งในไทยนิยมใส่น้ำปลาในอาหารก่อนจะทาน รวมถึงใส่ไข่ดาวทานคู่กับอาหารจานเดียว เช่น ข้าวผัดกระเพราคู่กับไข่ดาวราดน้ำปลา เป็นต้น นอกจากนั้น ควรต้องสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภค เพราะวัตถุดิบแต่ละประเทศบางอย่างมีความคล้ายคลึงกัน เช่น พริกขี้หนูไทย แตกต่างจากพริกอินเดีย หรือการทำแกงกะหรี่ของญี่ปุ่น มีความแตกต่างจากการทำปูผัดผงกะหรี่ของไทย อีกทั้ง เราควรปรับรสชาติอาหารให้เข้ากับรสนิยมของลูกค้าอีกด้วย”

“การเริ่มต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์และเลือกสินค้าในการส่งออกนั้น ควรจะมีการทำวิจัยกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและนำเสนอต่อผู้บริโภค เช่น Mr. Park ได้เปลี่ยนชื่อน้ำจิ้มไก่ไทยเป็น “Sweet Source for Cooking” เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคว่าน้ำจิ้มดังกล่าวสามารถทานคู่กับอะไรก็ได้ รวมทั้งการสร้างเมนูใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกในการใช้ Sweet Source for Cooking ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนชื่อสินค้า Mr. Park ได้ศึกษากระแสนิยมในการรับประทานอาหารของชาวเกาหลี พบว่า หนุ่มสาวโสดมักนิยมทานแซนวิชมาก กว่าอาหารจานหลัก จึงนำแป้งแบบแมกซิกันใส่เนื้อสัตว์ ผัก และราดด้วยน้ำจิ้มไก่ไทย เกิดเป็นอาหารรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในเกาหลี อย่างไรก็ดี การนำสินค้าอาหารไปจำหน่ายในเกาหลี ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษามาตรฐานและข้อจำกัด กฎระเบียบต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วย” Mr. Park กล่าวเสริม

ทั้งนี้ Mr. Park เน้นว่า ความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผู้ประกอบการต้องสร้างความน่าเชื่อถือโดยมีความจริงใจ อย่าบิดเบือนข้อมูลลูกค้านำเสนอคุณประโยชน์เกินจริง เช่น การจัดทำฉลากสินค้าที่ชัดเจน ประกอบด้วยข้อมูลส่วนผสมและสัดส่วนตามความเป็นจริง เมื่อสร้างความน่าเชื่อถือได้ การจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ลูกค้าก็จะเป็นเรื่องง่ายเพราะลูกค้ามีความรักและมั่นใจในคุณภาพของสินค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าของเราอยู่ในตลาดได้ในระยะยาวอีกด้วย

Mr. Stanley Park, President CEO บริษัท Coman Foods เป็นผู้นำเข้าอาหารและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ มีประสบการณ์ในการนำเข้าอาหารไทยกว่า 23 ปี จนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อของวงการอาหารไทยในเกาหลี และในฐานะ HTA ได้ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าอาหารของไทยและผลักดันเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง นอกจากการบรรยายให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้แล้ว Mr. Park ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอาหารไทยกว่า 50 รายเข้ารับคำปรึกษาเป็นรายบริษัทแบบเจาะลึกเพื่อพัฒนาศักยภาพและสร้างสรรค์สินค้าอาหารของตนให้ตรงกับความต้องการของตลาดโสมขาวอีกด้วย

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “ในปีนี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเข้าสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือ Creative Food”  โดยกรมฯ ได้มีการจัดนิทรรศการเพื่อแสดงศักยภาพประเทศในฐานะครัวสร้างสรรค์ของโลก ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล โดยเฉพาะ SMEs จะได้เกิดการพัฒนาความคิด นำข้อได้เปรียบจุดแข็งของอุตสาหกรรมอาหารไทยด้านความหลากหลายของวัตถุดิบ และรสชาติอาหารไทยที่มีเอกลักษณ์ มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ต่อยอดให้แบรนด์สินค้า”

เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 10 ของไทย มูลค่าการค้ารวมปี 2560 ประมาณ 12,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.36 โดยในปี 2561 ตั้งเป้าหมายการส่งออกไปเกาหลีขยายตัวร้อยละ 12 เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพิงการนำเข้าสินค้าอาหารมากกว่าร้อยละ 50 จึงยังเป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับสินค้าอาหารของไทย สินค้าสำคัญ ได้แก่ ไก่แปรูป อาหารทะเลแปรรูป ปลาหมึกสด/แช่แข็ง ผลไม้สด/แช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี และผักกระป๋อง/แปรรูป ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.2 ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปเกาหลี

ในปี 2561 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้จัดกิจกรรมผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารไปตลาดเกาหลี เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Seoul Food & Hotel 2018 งาน Seoul International Seafood Show 2018 และงาน Thai Festival in Seoul 2018 เป็นต้น