“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งติดตามฝนตกหนักและคุณภาพน้ำภาคเหนือ

“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักภาคเหนือ สทนช. รับลูกเรียกประชุมด่วนกว่า 20 หน่วยงาน บูรณาการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตามกลไกศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าชั่วคราว พร้อมรับมืออุทกภัยและแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และประธานคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงเหนือ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 ร่วมกับ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา มณฑลทหารบกที่ 37 กรมการทหารช่าง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) การประปาส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงชนบท กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลุ่มน้ำโขงเหนือ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงราย และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีความเป็นห่วงสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในทุกพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือที่เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเมืองแม่สายซ้ำรอยปีที่ผ่านมา และปีนี้ได้เกิดน้ำท่วมไปแล้ว 2 ครั้ง จึงได้สั่งการให้ สทนช. ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เพื่อบริหารสถานการณ์ ประกอบกับจังหวัดเชียงรายอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ มีความซับซ้อนของปัญหาทั้งในเรื่องพื้นที่ชายแดนที่ติดกับฝั่งประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องรองรับมวลน้ำบางส่วนจากเมียนมา นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. คาดการณ์สภาพอากาศพบว่า ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ สปป.ลาว จะทำให้พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมได้

สำหรับการตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ เป็นไปตามกลไกของมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ในมาตรการที่ 6 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ โดยการประชุมในครั้งนี้ ได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับเกณฑ์การเฝ้าระวัง แจ้งเตือน สถานการณ์น้ำแม่สายในแต่ละกรณีให้มีความชัดเจน และขอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลแผนที่น้ำท่วม (Flood Map) และนำข้อมูลเรดาร์กรมอุตุนิยมวิทยาไปประกอบในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ รวมทั้งให้ สสน.พิจารณาดำเนินการนำระบบสำรวจภูมิประเทศ (Mobile Mapping System : MMS) และระบบแสดงผลข้อมูลแผนที่ 3 มิติแบบออนไลน์ เพื่อสนับสนุนการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อำเภอแม่สายด้วย พร้อมประสานและกำหนดเจ้าภาพหลักในการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในแต่ละแม่น้ำและลำน้ำ ในส่วนการบริหารจัดการน้ำให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำพิจารณาปรับแผนการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน

“ส่วนแผนระยะยาวให้หน่วยงานร่วมกับสถาบันการศึกษาดำเนินการศึกษาวิจัยการพัฒนาการคาดการณ์หรือแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ร่วมกัน นอกจากนี้ ให้นำผลการศึกษาข้อมูลพื้นที่เปราะบางและการจัดลำดับความสำคัญในการวางแผนการดำเนินการ ไปใช้เตรียมความพร้อมป้องกันในช่วงฤดูฝนนี้ก่อน เพื่อใช้ประกอบการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับปัญหาคุณภาพน้ำกก รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมการเจรจากับเมียนมา เพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูและแก้ไขระยะยาว นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้เตรียมแผนจัดทำฝายดักตะกอนดินบริเวณแม่น้ำกก จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนไหลเข้ามาในไทย จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษพบว่า บริเวณเหนือฝายเชียงรายคุณภาพน้ำไม่ผ่านมาตรฐาน แต่บริเวณท้ายฝายเชียงรายคุณภาพน้ำผ่านมาตรฐาน หากสร้างฝายดักตะกอนดินบริเวณตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จะช่วยลดตะกอนดินหรือสารพิษที่ไหลลงสู่แม่น้ำกก จังหวัดเชียงรายได้มากขึ้น และในอนาคตการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงรายมีแผนจะใช้น้ำจากแม่น้ำลาวแทนแม่น้ำกกในการผลิตน้ำประปาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย