“พาณิชย์” ประกาศ จ่อขึ้นทะเบียน GI “เนื้อสุรินทร์”สินค้าเกษตรคุณภาพ เกรดพรีเมียม ไขมันแทรกระดับเนื้อญี่ปุ่น สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าผลักดันของดีเมืองช้าง เตรียมขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ตัวใหม่ของจังหวัด“เนื้อสุรินทร์” เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

นายคุณากร ปรีชาชนะชัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายภารกิจสำคัญให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ในการส่งเสริมและคุ้มครองสินค้าชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพผู้ผลิต ขยายช่องทางการตลาดสร้างการรับรู้ให้สินค้า GI เป็นที่รู้จักและยอมรับในกลุ่มผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ  รวมถึงสนับสนุนให้มีระบบการควบคุมคุณภาพสินค้ากระบวนการผลิต และแหล่งที่มา เพื่อให้สินค้าGI มีมาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์เตรียมประกาศขึ้นทะเบียน “เนื้อสุรินทร์” ซึ่งเป็นเนื้อโคขุนคุณภาพสูง มีลักษณะเนื้อสีแดงอมชมพู มีไขมันแทรก เมื่อปรุงสุกจะให้รสชาติที่ดี เนื้อนุ่ม และไม่มีกลิ่นสาบ มีระดับคะแนนไขมันแทรกที่ 3 ขึ้นไปตามมาตรฐานการตัดเกรดเนื้อโคของญี่ปุ่น ซึ่งผลิตจากโคเนื้อลูกผสมระหว่างโคสายพันธุ์ลูกผสมในพื้นที่และโคสายพันธุ์วากิว 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ได้โคเนื้อลูกผสมสายเลือดวากิว 50 เปอร์เซนต์ขึ้นไป ผ่านกระบวนการเลี้ยง โดยใช้ผลผลิตที่ได้จากการปลูกหญ้าและปลูกข้าวที่มีคุณภาพดีในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เช่น ฟางข้าว รำข้าว และแกลบ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับโค ทำให้โคเจริญเติบโตได้ดี มีน้ำหนักตัวมาก ประกอบกับสภาพอากาศที่มีความเหมาะสมกับการเลี้ยงโค ส่งผลให้โคมีสุขภาพแข็งแรง กินอาหารได้มาก และไม่ป่วยง่าย ประกอบกับ กระบวนการแปรสภาพ และการตัดแต่งซากตามมาตรฐานสากล ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ปัจจุบันมีปริมาณการผลิตกว่า 144,000 กิโลกรัมต่อปี มูลค่าการตลาดรวมกว่า 43 ล้านบาทต่อปี

 

นายคุณากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “สินค้า GI เป็นสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็น Soft Power ที่เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ ซึ่งสามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์อันเป็นอัตลักษณ์นี้ไปสู่นานาประเทศ และเป็นส่วนสำคัญให้ชุมชนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจน และสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นและชุมชนอย่างยั่งยืน ผมเล็งเห็นศักยภาพของสินค้า “เนื้อสุรินทร์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าเศรษฐกิจหลักของชาวจังหวัดสุรินทร์ และการทำปศุสัตว์ในพื้นที่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับพี่น้องชาวอีสานมาอย่างยาวนาน ประกอบกับการควบคุมคุณภาพและส่งเสริมการตลาดอย่างเข้มแข็งด้วยความร่วมมือของผู้ประกอบการและส่วนราชการในพื้นที่ สามารถผลักดันให้เป็นอีกหนึ่งสินค้า GI ที่สำคัญของจังหวัดได้”

นอกจากนี้ นายคุณากร ยังระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้สู่ชุมชน สนับสนุนสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่น หลังจากการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการสนับสนุนการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าตามมาตรฐาน GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “เนื้อสุรินทร์” ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรมต่อไป