นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 32.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.68-32.82 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าในช่วงแรกเงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 32.85 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของราคาทองคำ หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ ออกมาดีกว่าคาด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board ในเดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 98 จุด ดีกว่าที่ตลาดประเมินไว้แถวระดับ 87 จุด ท่ามกลางความหวังการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ก็ทยอยกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังบอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ทยอยย่อตัวลงบ้าง ทว่า การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ กลับเป็นปัจจัยที่จำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ขณะเดียวกันก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้น (นอกเหนือจากปัจจัยเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ร้อนแรงขึ้น และช่วยหนุนความต้องการถือทองคำ) โดยเฉพาะในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ทำให้เงินบาทก็พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามอานิสงส์การรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หลังทางการสหรัฐฯ เลื่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 50% กับสินค้าจากยุโรป ขณะเดียวกันรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังได้อานิสงส์จากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวขึ้นแรง อาทิ Tesla +6.9%, Nvidia +3.2% ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด พุ่งขึ้น +2.05%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.33% ท่ามกลางความหวังต่อแนวโน้มการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป นอกจากนี้ การย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ก็พอช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth รีบาวด์สูงขึ้นบ้าง ส่วนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมทหารยังคงได้แรงหนุนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงร้อนแรงอยู่
ในส่วนตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของทางการสหรัฐฯ ลงบ้าง ขณะเดียวกัน ความพยายามในการช่วยประคองตลาดบอนด์ของทางการญี่ปุ่น ที่ล่าสุดส่งสัญญาณชะลอการออกบอนด์ระยะยาว ก็มีส่วนช่วยกดดันให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวของญี่ปุ่นปรับตัวลดลง และภาพดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวของสหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง โดยล่าสุด บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ทยอยปรับตัวลดลงสู่โซน 4.45% อนึ่ง เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเสี่ยงผันผวนสูงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดกลับมามีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ มากขึ้น ทว่า เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip) ได้
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวม และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่า จังหวะย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ และแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ของเงินดอลลาร์ ได้จำกัดการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 99.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.2-99.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) ก็สามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นและสามารถทรงตัวเหนือโซน 3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ท่ามกลางการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ร้อนแรงขึ้นในช่วงนี้ หนุนความต้องการถือครองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานการประชุม FOMC ล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ นี้ ตามเวลาประเทศไทยน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง รายงานดัชนีภาคธุรกิจจากบรรดาเฟดสาขาต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด
ส่วนในฝั่งเอเชีย-แปซิฟิก บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบาย 25bps สู่ระดับ 3.25% ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ท่ามกลางแรงกดดันต่อเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Nvidia ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้ พร้อมทั้งรอติดตาม สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า ราคาทองคำยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยง Two-Way risk ที่อาจทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวแข็งค่า หรือ อ่อนค่าลงได้ ตามทิศทางราคาทองคำ ดังจะเห็นได้จากในช่วงเช้าของตลาดการเงินเอเชีย ที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังราคาทองคำสามารถรีบาวด์สูงขึ้นได้
อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็เริ่มลดความสนใจในธีม Sell US Assets ลงบ้าง ก็อาจจำกัดการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และทำให้ ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways หรืออาจกล่าวได้ว่า ราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงของการพักฐานอยู่ โดยหากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านก่อนหน้า เช่นโซน 3,350-3,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจหนุนให้เงินบาทสามารถทยอยแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง (แนวรับถัดไปของเงินบาทจะอยู่แถว 32.35 บาทต่อดอลลาร์)
แต่หากราคาทองคำย่อตัวลงบ้างจากโซนแนวต้าน หรือจากระดับปัจจุบัน เข้าหาโซนแนวรับแถวโซน 3,200-3,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจช่วยหนุนให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงได้ไม่ยาก แต่โดยรวมการอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยมีโซนแนวต้านแถว 32.85 บาทต่อดอลลาร์ และโซนแนวต้านถัดไปในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยรวมเราประเมินว่า เงินบาทอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ที่กว้างพอสมควร แต่ก็มีโอกาสเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways Up หรือทยอยอ่อนค่าลงมากขึ้น ตราบใดที่ตลาดการเงินอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมออกมาสดใส ดีกว่าคาด และที่สำคัญ ตลาดควรทยอยคลายกังวลแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่หนุนธีม Sell US Assets ได้ นอกจากนี้ เราขอเน้นย้ำว่า พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ ได้สะท้อนว่า ตลาดค่าเงินยังอยู่ในภาวะผันผวนสูง ทำให้เรายังคงแนะนำผู้เล่นในตลาดว่า ควรใช้กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะกลยุทธ์ Options และการพิจารณาใช้ Local Currency เนื่องจากบางสกุลเงิน อย่าง CNYTHB ก็มีความผันผวนที่ต่ำกว่า USDTHB อย่างเห็นได้ชัด
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.85 บาท/ดอลลาร์