1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.แพร่ (111 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย (115 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (38 มม.) ภาคกลาง : จ.นครปฐม (43 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ระยอง (122 มม.) ภาคใต้ : จ.พังงา (76 มม.)
วันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมาก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 29 พ.ค.-1 มิ.ย. 68 ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ เนื่องจากร่องมรสุมจะมีกำลังอ่อนลงและจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาว สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศบังคลาเทศและอินเดียโดยไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (44,131 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 35% (20,051 ล้าน ลบ.ม.)
3.ประกาศแจ้งเตือน : กรมชลประทาน ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากมีปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลผ่านเพิ่มขึ้น โดยวันที่ 27 พ.ค. 68 เวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา สถานี C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,053 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอัตราประมาณ 1,100–1,400 ลบ.ม./วินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 700-1,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 0.60-1.70 ม. บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน
3.ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ 27 พ.ค. 68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ครั้งที่ 1/2568 เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง โดยที่ประชุมกำหนด 3 มาตรการหลัก ในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำอย่างเร่งด่วน ดังนี้
– มาตรการเฝ้าระวัง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจวัดคุณภาพน้ำ ตะกอนดิน สัตว์น้ำ และระดับสารพิษในร่างกายของประชาชนในพื้นที่รวมถึงตรวจสอบผลผลิตทางการเกษตร พร้อมทั้งติดตั้งกล้อง CCTVเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนประชาชนกรณีคุณภาพน้ำเกินมาตรฐาน และขอให้งดกิจกรรมสัมผัสน้ำโดยตรง
– มาตรการเชิงรุก ศึกษาการสร้างฝายดักตะกอนในแม่น้ำกก ทั้งระยะสั้น และระยะยาว
– แผนการเจรจากับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาในระดับรัฐบาล เพื่อให้การแก้ไขปัญหาแม่น้ำระหว่างประเทศเกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาสารพิษปนเปื้อนในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง เพื่อประสานงานการดำเนินงานให้สามารถปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง การให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบข่าวที่ถูกต้องแม่นยำได้อย่างทันท่วงที รวมถึงแต่งตั้งคณะทำงานประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะฯ เพื่อให้มีการร่วมตรวจสอบและพิจารณาแนวทางในการแก้ปัญหา รวมถึงการให้ความรู้ด้านการทำเหมืองแร่ที่ถูกต้องและการให้ความรู้ด้านสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา