กรมประมง รวมพลังชุมชน Kick Off “ประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน” ปีที่ 5 ปล่อยพันธุ์ปลา กว่า 5 ล้านตัว ลงสู่หนองหาร จ.สกลนคร

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2568 เวลา 09.30 น. ณ สวนสาธารณะดอนเกิน บ้านท่าแร่สามัคคี หมู่ 6 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำสำคัญหนองหาร จังหวัดสกลนคร ประจำปี 2568 ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกรมประมง ผู้นำชุมชน ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 300 คน เข้าร่วม โดยภายในงาน ประกอบด้วย การปล่อยพันธุ์ปลา กว่า 5 ล้านตัว เป็นปลาวัยอ่อนอายุ 2 วัน ซึ่งได้จากการเพาะพันธุ์ด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile Hatchery) ลงในแหล่งน้ำหนองหาร จังหวัดสกลนคร ประกอบด้วยปลาตะเพียนทอง จำนวน 1,500,000 ตัว ปลาตะเพียนขาว จำนวน 1,200,000 ตัว ปลากระแห จำนวน 1,000,000 ตัว ปลาสร้อยขาว จำนวน 1,000,000 ตัว ปลากดเหลือง จำนวน 300,000 ตัว รวมถึงปลาตะเพียนขาวและปลาหมอตาล ขนาด 2–3 เซนติเมตร จำนวน 500,000 ตัว และพันธุ์กุ้งก้ามกราม จำนวน 200,000 ตัว นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยพันธุ์ปลาตะเพียนขาววัยอ่อนออนไลน์ จำนวน 5,000,000 ตัว จากชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ในพื้นที่บ้านปากบัง ลงในลำน้ำก่ำ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ภายในงานยังจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในหนองหารและลำน้ำก่ำ การจัดแสดงรูปแบบชุดเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเคลื่อนที่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปสัตว์น้ำของชุมชน และผลงานการวาดภาพระบายสีของนักเรียนในหัวข้อ “หนองหารน่าอยู่” พร้อมนำเสนอผลสำเร็จตลอดระยะเวลา 5 ปีของ “โครงการประมงร่วมอาสา…พาปลากลับบ้าน” โดยข้อมูลจากการดำเนินโครงการฯ ตลอดระยะเวลาโครงการ พบว่าสามารถเพิ่มจำนวนประชากรปลาเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนแล้วกว่า 448 ตัน สามารถสร้างมูลค่าและเป็นรายได้เสริมให้กับชุมชนได้กว่า 35,820,000 บาท

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ดำเนินโครงการ “ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน” ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อฟื้นฟูผลผลิตสัตว์น้ำคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ระบบนิเวศต้นน้ำและแม่น้ำสาขา ด้วยการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ด้วย “ชุดอุปกรณ์เพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่” (Mobile hatchery)
และนำผลผลิตลูกปลาวัยอ่อนที่ได้ปล่อยคืนสู่ต้นน้ำที่เป็นแหล่งกำเนิด ซึ่ง 3 พื้นที่เป้าหมาย คือ หนองหาร จังหวัดสกลนคร กว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา และบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ดำเนินการโครงการ สามารถสร้างผลผลิตทรัพยากรปลาไทยและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากถึง 447.76 ล้านตัว เพิ่มอาหารโปรตีนราคาถูกและเพิ่มรายได้ให้ประชาชน โดยการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของชาวประมงในพื้นที่ เกิดการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำสำคัญให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์ กลายเป็นแหล่งการทำประมงที่สำคัญในภูมิภาค สร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน

ที่สำคัญในปี 2568 นี้ กรมประมง มีแผนดำเนินการรวมรวมพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่มีความพร้อมผสมพันธุ์เพื่อนำพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำมาเพาะพันธุ์ในชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (mobile hatchery) ซึ่งมีแผนที่จะปล่อยพันธุ์ปลาภายใต้โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในหนองหาร โดยชุมชนมีส่วนร่วม จำนวน 40,000,000 ตัว ได้แก่ ปลากระแห
ปลาตะเพียนทอง ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยขาว และปลากดเหลือง

ทั้งนี้ กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นในช่วงฤดูน้ำแดง ซึ่งเป็นช่วงฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ตรงกับฤดูอพยพของกลุ่มปลา จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูทรัพยากรประมงธรรมชาติไปพร้อมกัน โดยกรมประมงได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น ด้วยการสาธิตและถ่ายทอดความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลาประจำถิ่นด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ เพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ หวงแหน และร่วมบริหารจัดการทรัพยากรประมงท้องถิ่นอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น…อธิบดีฯ กล่าว