เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 4 อาคารสำนักงานเทศบาลเมืองแสนสุข (ตึกใหม่) เครือข่ายงดเหล้าและ สสส. ร่วมกับเทศบาลเมืองแสนสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ถอดบทเรียน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงาน ไม่ดื่ม ไม่ขาย ในพื้นที่สาธารณะ” ภายใต้แคมเปญ “ตะวันออกบอกรักทะเล โดยมี นายกิตติศักดิ์ วชิรวิทยา ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ในการประชุมครั้งนี้ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากพื้นที่ “หาดบางแสน” นำร่องชายหาดที่ประสบความสำเร็จ โดยมีพื้นที่แหลมสิงห์, หาดบ้านเพ, ชายหาดเสม็ด, อ่างเก็บน้ำเขาระกำ ซึ่งได้ดำเนินการตามแนวทาง “ไม่ขาย-ไม่ดื่ม” อย่างเป็นรูปธรรม และได้รับผลตอบรับเชิงบวกจากนักท่องเที่ยวและชุมชน
นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการ สคล. กล่าวว่า การดำเนินงานเสริมสร้างพื้นที่สาธารณะให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน 6 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.) สวนสาธารณะ 2.) สนามกีฬา 3.)อุทยานธรรมชาติ 4.)สถานที่จัดงานประเพณี-วัฒนธรรม 5.) ตลาด-ถนนคนเดิน 6.) สถานที่ราชการ-ศาสนสถาน-โรงพยาบาล สำหรับพื้นที่ “หาดบางแสน” ได้สำรวจความคิดเห็นต่อการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่ ของนักท่องเที่ยวกลุ่มตัวอย่าง 300 คน พบว่า 80% มีการรับความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและข้อห้ามสูบบุหรี่/ดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ , 90% เห็นด้วย กับการไม่ดื่มไม่สูบในที่สาธารณะ, 89.7% เห็นด้วย กับการห้ามขาย-ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ที่ชายหาด เหตุผลหลักคือ ลดขยะ ลดเสียงดัง ลดอุบัติเหตุ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่อายุระหว่าง 20–29 ปี ภูมิลำเนาจากพื้นที่ชลบุรีและกรุงเทพฯ 36.3% เคยมาบางแสนเกิน 5 ครั้งในรอบปี และจุดประสงค์หลักคือเพื่อท่องเที่ยว 72% พร้อมข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากประชาชน คือ ต้องการให้ จัดระเบียบจราจรและจุดจอดรถ, เพิ่มจุดทิ้งขยะและพื้นที่สูบบุหรี่เฉพาะ,ปรับปรุงถนนและป้ายแจ้งเตือนและ ส่งเสริมภาพลักษณ์หาดปลอดแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ข้อมูลผลสำรวจนี้ สอดคล้องกับการสำรวจนักท่องเที่ยวเขตอุทยานแห่งชาติปี 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 711 ตัวอย่าง จาก 28 อุทยานฯ พบว่า 87% เห็นด้วยกับนโยบาย, เหตุผลหลัก: ลดเสียงดัง, ลดความรุนแรง, เคารพสิทธิ์ผู้ไม่ดื่ม และ 70% เห็นว่าควรใช้นโยบายนี้ต่อไป ในขณะที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 104 ตัวอย่าง พบว่า 89% เห็นด้วยกับนโยบาย, 84% ไม่ต้องการให้แก้ไขดีอยู่แล้ว ตัวอย่างผู้ตอบจากหลายประเทศ: อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวมีคุณภาพ และเคารพทรัพยากรธรรมชาติ มีพฤติกรรมเสี่ยงลดลง สำหรับเจ้าหน้าที่ได้รับแรงสนับสนุนเชิงบวก นักท่องเที่ยวชื่นชม และทำงานได้สะดวกขึ้น ซึ่งทำให้บุคลากรหลายคนเลิกดื่ม-สูบได้
นางมณทิรา จรรยาภรณ์พงษ์ – พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ เทศบาลเมืองแสนสุข กล่าวว่า เทศบาลเริ่มต้นในปี 2560 โดยรับนโยบายจากผู้บริหาร ทำ MOU ชายหาดปลอดบุหรี่ 24 แห่ง โดยนโยบายของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้ต่อยอดรณรงค์ชายหาดบางแสนห้ามขายห้ามดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่มีการออกใบอนุญาตขาย และเป็นเงื่อนไขข้อตกลงร้านค้าที่ขายอาหารในเขตชายหาดอย่างชัดเจนตามนโยบายของนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข โดยหน่วยงานสาธารณสุข ทีมงานจิตอาสา เทศกิจ และนิติกรเทศบาลร่วมตรวจตราและดำเนินการหากพบการฝ่าฝืน ก็มีการตักเตือน, พักหรือเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณี “งานอีเว้นท์” ก็ไม่สามารถอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
เสียงจากนางสาวอรอุมา สิทธิประเสริฐ ผู้ประกอบการชายหาดบางแสน กล่าวว่า “เราอยู่กับทะเลบางแสนมาตลอด เห็นทุกช่วงของการเปลี่ยนแปลง เคยแอบขายโดยไม่มีใบอนุญาต จนกระทั่งทางเทศบาลเริ่มจริงจัง มีการประกาศห้ามขายแอลกอฮอล์และบุหรี่ ตอนแรกยอมรับว่ารู้สึกเสียโอกาส ถ้าไม่ขายเขาก็ไปซื้อจากที่อื่นมากิน แต่พอเริ่มบังคับใช้จริงจัง เห็นผลชัดเลยว่าเรื่องทะเลาะวิวาทและโวยวายลดลงเยอะมากบางคนดื่มแล้วขาดสติ ตีกันเสียงดัง เราในฐานะเจ้าบ้านก็ไม่สบายใจ” นักท่องเที่ยวที่มาชายหาดควรได้พักผ่อนกับธรรมชาติ ไม่ใช่มาเจอปัญหา ตอนนี้ทางเทศบาลจัดจุดสูบบุหรี่ไว้ให้เป็นสัดส่วน มีป้ายชัดเจน มีเสียงประกาศแจ้งเตือนตลอด นักท่องเที่ยวบางคนอาจไม่พอใจ แต่ส่วนใหญ่เข้าใจ และเราก็ช่วยเตือนเท่าที่ทำได้ ถ้าเตือนไม่ได้ก็แจ้งเทศกิจ เพราะเขามีทีมลงพื้นที่ตลอด ปัจจุบันผู้ประกอบการรู้หน้าที่ดีขึ้น ที่สำคัญคือเรารักบ้านเกิด รักที่ทำมาหากิน และอยากให้คนที่มาเที่ยวรู้สึกประทับใจ ทำให้ชายหาดดูน่าเที่ยว อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของพื้นที่สาธารณะร่วมกัน”
จ่าเอกณัฐพงษ์ อำนวยศิลป์ ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนปลัดเทศบาลตำบลหนองเสม็ด จ.ตราด กล่าวว่า พื้นที่อ่างเก็บน้ำเขาระกำ เป็นที่ผลิตน้ำประปา และเป็นสถานที่ออกกำลังกาย ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้แอบน้ำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามา และมีการทำลายทรัพย์สิน จึงประสานผู้ใหญ่บ้าน และมีตำรวจท่องเที่ยว ร่วมตรวจตรา มีการควบคุมร้านค้าปลอดแอล ก็ยังพบการแอบนำมาดื่ม ได้นำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิดมาใช้ นำเครื่องเล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็กเข้ามา เพื่อส่งเสริมกิจกรรมครอบครัว เมื่อมีผู้ฝ่าฝืน ทั้งเตือน และปรับ ซึ่งคิดว่าการบังคับใช้กฎหมายได้ผลดีสุด
นายณัฐวุฒิ ละอองฐิติ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญ อำเภอแหลมสิงห์ กล่าวว่า เป้าหมายหลัก พัฒนาชายหาดแหลมสิงห์ และพื้นที่โฮมสเตย์ให้เป็น พื้นที่ท่องเที่ยวปลอดปัจจัยเสี่ยง (เหล้า-บุหรี่), ส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎหมายในสถานประกอบการริมชายหาด ให้นักท่องเที่ยวรู้สึก “เที่ยวอย่างมีความสุข” และปลอดภัยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของพื้นที่ ที่ผ่านมามีการจัดโปร อาหาร 3 มื้อ เบียร์ฟรี! เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวโฮมสเตย์ ซึ่งไม่มีใบอนุญาตจำหน่าย บางแห่งบุกรุกที่ป่า บุกรุกทางทะเล ไม่สามารถขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ แต่มีปัญหาการขึ้นทะเบียนขอขายเหล้าเบียร์ ทะเลาะวิวาท บริเวณชายหาด มีการรวมตัวเครื่องเสียงแต่งไปโชว์พลังเสียง ทั้งนี้เกิดปัญหา ซึ่งมีการร้องเรียน เกิดการทะเลาะวิวาท ในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ดื่มสุรา เกิดอุบัติเหตุใช้เครื่องเสียงเปิดโชว์พลังเสียงริมชายหาดพบขยะทะเลและสารเสพติดที่ซัดขึ้นฝั่ง
ในการประชุมแลกเปลี่ยนยังได้เน้นให้เด็กเยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมีกิจกรรมสร้างสรรค์เพิ่มเติมในพื้นที่ จะทำให้เกิดประโยชน์มากขึ้น รวมทั้ง ได้เชื่อมกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้พัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวในโซนริมทะเลตะวันออกให้มีคุณภาพปลอดภัยต่อไป