‘เดชอิศม์’ นั่งหัวโต๊ะถก คมส. นัดแรกประจำปี 2568 รับทราบผลการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ 3 เรื่อง “สมัชชาสุขภาพฯ 18 – สุขภาวะพระสงฆ์ – ปราบบุหรี่ไฟฟ้า” พร้อมประกาศ 5 ประเด็นสำคัญที่อยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในสมัชชาสุขภาพฯ มั่นใจช่วยยกระดับระบบสุขภาพไทยให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่เตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงของโลก “นพ.สุเทพ” ระบุ จ่องัดมาตรการกฎหมายปิดทางอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายสาธารณสุข-จำกัดการโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อ Over-the-top
ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2568 ซึ่งมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สธ. เป็นประธานการประชุม มีมติรับทราบการพัฒนานโยบายสาธารณะและการขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะใน 3 ประเด็นสำคัญ
ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ผลการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 และความก้าวหน้าการเตรียมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 2. ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 มติที่ 7 พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ และ 3. การขับเคลื่อนนโยบายการปกป้องเด็กและคุ้มครองเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า
นายเดชอิศม์ เปิดเผยว่า หลังผ่านพ้นยุคที่ทั่วโลกเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทางสุขภาพครั้งประวัติศาสตร์อย่างโควิด-19 ประเทศไทยสามารถสรุปบทเรียนได้ประการหนึ่งว่า ระบบสุขภาพที่ประกอบขึ้นจากกระบวนการการมีส่วนร่วมและมีกลไกสานพลังในระดับพื้นที่ ช่วยหนุนเสริมการดำเนินนโยบายของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เนื่องจากระบบมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ จึงมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับวิกฤตการณ์ได้จริง
ในส่วนของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะน้ำสะอาดสำหรับบริโภค ได้มีการกำกับดูแลมาตราฐานการผลิตตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้สะอาด พร้อมปรับลดค่าธรรมเนียมการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ พร้อมจัดทำรายงานการวิจัยความปลอดภัยต่อการบริโภคน้ำดื่มที่ผลิตจากตู้น้ำหยอดเหรีญใน กทม.
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นสิ่งสะท้อนว่าทุกวันนี้เราอยู่บนโลกที่มีความไม่แน่นอน นอกจากโรคระบาดแล้วยังมีโอกาสวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ในอนาคตได้อีก ฉะนั้นเพื่อความรอบคอบ และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงอย่างรัดกุม ในปี 2568 ที่จะมีการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 จึงมีการพัฒนานโยบายสาธารณะที่จะช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าจะส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับระบบสุขภาพไทยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
สำหรับนโยบายสาธารณะที่อยู่ระหว่างการพัฒนามีด้วยกัน 5 ประเด็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าบนฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย 1. การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 2. การสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) 3. ภูมิรัฐศาสตร์โลกกับระบบสุขภาพไทยและระบบสุขภาพชายแดน 4. ระบบสุขภาพในภาวะวิกฤต การจัดการภัยพิบัติ 5. กลไกร่วมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อรองรับระบบสุขภาพระดับพื้นที่/ชุมชน ท้องถิ่น
นายเดชอิศม์ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับระบบสุขภาพและรับมือกับภัยคุกคามในอนาคตนั้น สอดคล้องกับสาระสำคัญในการหารือระดับรัฐมนตรี (Ministerial Breakfast Meeting) หัวข้อ “ก้าวไปสู่การตัดสินใจด้านสุขภาพที่เปิดกว้างและครอบคลุมมากขึ้น : การมีส่วนร่วมทางสังคมในปัจจุบันนี้ถูกคุกคามหรือไม่” หรือ Progressing towards more open and inclusive decision-making for health: Is social participation under threat ? ภายใต้การประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 78 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับความสำคัญของการมีส่วนร่วมทางสังคม และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางสังคม พร้อมทั้งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ประเทศสมาชิกเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมทางสังคม
“ในการประชุมมีการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขของทั้งสองประเทศในสาขาต่างๆ เช่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ความร่วมมือด้านวิชาการกับสถาบันฝึกอบรมบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพ และการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งหมดนี้คือหนึ่งในภาพสะท้อนความสำคัญต่อสิ่งที่รัฐบาล คมส. และกลไกสมัชชาสุขภาพกำลังดำเนินการอยู่” นายเดชอิศม์ กล่าว
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2568 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27-28 พ.ย. 2568 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี จะจัดขึ้นภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาประเด็นเพื่อนำเข้าบรรจุเป็นระเบียบวาระในการพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพต่อไป พร้อมกันนี้ภายในงานจะมีการจัดตลาดนัดนโยบายสาธารณะในประเด็น “เศรษฐกิจกับสุขภาพ” ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมร่วมจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ นิทรรศการ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พื้นที่ Creative space และเวที Public forum ฯลฯ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานผ่านทั้ง On-site และระบบ Online
นพ.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งข้อห่วงใยที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุม คมส. และเป็นนโยบายที่นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้กำชับอย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ นั่นก็คือการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด ซึ่งที่ประชุม คมส. ได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และได้หารือถึงแผนการทำงานในระยะถัดไป คือการป้องกันการแทรกแซงนโยบายด้านสาธารณสุขจากอุตสาหกรรมยาสูบผ่านการผลักดันกฎหมาย ตลอดจนการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการออกกฎระเบียบหรือมาตรการร่วมกัน
“ในเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ยังมีการพูดถึงการควบคุมสื่อออนไลน์ และสื่อ Over-the-top (OTT) ในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อป้องกันการตลาดการโฆษณาชวนเชื่อ โดยจะมีการหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อขยายขอบเขตการกำกับสื่อในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงการควบคุมฉากที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นพ.สุเทพ กล่าว
นอกจากนี้ ในการประชุม คมส. ยังมีการรายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 มติที่ 7 พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. 2566 ที่มหาเถรสมาคมมอบหมายให้กรรมการทุกฝ่ายให้การอนุเคราะห์การขับเคลื่อน รวมถึงรับทราบแผนปฏิบัติการธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ และการพัฒนาฐานข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์สามเณร ภายใต้โครงการสานพลังพัฒนาและขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติฯ ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระธรรมวชิโรดม, รศ.ดร. (พล อาภากโร ป.ธ.9) เจ้าคณะภาค 6 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เจ้าอาวาสวัดสังเวชวิสยาราม และพระเดชพระคุณพระราชปัญญาวชิรากร (สมบัติญาณวโร) เป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ ทั้ง 2 คณะ ร่วมกับองค์กรปวารณาขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ฯ 18 องค์กร