สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 พ.ค. 68 เวลา 7.00 น.

1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.ตาก (168 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย (224 มม.) ภาคตะวันตก : จ.เพชรบุรี (65 มม.) ภาคกลาง : จ.พระนครศรีอยุธยา (103 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ฉะเชิงเทรา (80 มม.) ภาคใต้ : จ.ยะลา (68 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 28 พ.ค.-1 มิ.ย. ประเทศไทยจะมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ เนื่องจากร่องมรสุมจะมีกำลังอ่อนลงและจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาว สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศบังคลาเทศและอินเดีย โดยไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (44,005 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 34% (19,926 ล้าน ลบ.ม.)

3.ประกาศแจ้งเตือน : กรมชลประทาน ปรับแผนการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากมีปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลผ่านเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงได้ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 490 ลบ.ม./วินาที และคาดว่าปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในอัตราประมาณ 500-700 ลบ.ม./วินาที อาจทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ถึง ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มขึ้นประมาณ 1-1.20 เมตร ซึ่งระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ยังคงอยู่ในตลิ่งและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมน้ำ

3.ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ 26 พ.ค. 68 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 4/2568 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 และได้มอบหมายดังนี้
– ให้จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและปริมาณฝน รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พร้อมทั้งเตรียมการป้องกันหากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
– กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ติดตามวิเคราะห์สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ให้มีปริมาณน้ำที่เหมาะสม
– สทนช. กำกับและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ได้มีมติเห็นชอบด้านต่างๆ ดังนี้
– หลักการ (ร่าง) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเป็นกรณีเร่งด่วนและเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 22,309 รายการ โดยทั้งหมดเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ภายในช่วง 1 ปี
– การขอขยายระยะเวลาดำเนินงานและเพิ่มกรอบวงเงินโครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ จังหวัดระยอง รองรับการขยายตัวและความต้องการใช้น้ำในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
– การขออนุญาตการใช้น้ำประเภทที่สาม ของกรมทรัพยากรน้ำ จำนวน 4 คำขอ และกรมชลประทาน 1 คำขอ โดยให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมชลประทานติดตามการใช้น้ำอย่างเคร่งครัด
– ประเด็นสำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การปรับปรุงแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด รวมถึงเห็นชอบผังน้ำลุ่มน้ำสาละวิน เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป