“รองนายกฯ ประเสริฐ” คุมเข้มมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง กำชับหน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมวางแผนเตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
วันที่ 24 พฤษภาคม 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ลงพื้นที่กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 14 จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ โดยช่วงเช้า ตรวจติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ บ้านหนองจิก หมู่ 14 ตำบลหัวเรือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อรับฟังรายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 14 (จังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) รายงานปัญหาที่สำคัญของจังหวัด นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมประชุม ณ โครงการชลประทานศรีสะเกษ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ จากนั้นลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ตามลำดับ
รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การลงพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 14 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในครั้งนี้ เพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการด้านน้ำจากผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นอย่างมาก ถือเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ ให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 อย่างเคร่งครัด และเตรียมแผนเผชิญเหตุสำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือพื้นที่เปราะบางอย่างเข้มข้น โดยมีการวางแผนใช้กลไกของศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยร่วมกับกลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ในการบูรณาการข้อมูลและติดตามการแก้ไขปัญหาเพื่อสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามสถานการณ์น้ำและบริหารน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยให้สามารถชะลอน้ำหลากในช่วงฤดูฝนและกักเก็บน้ำไว้สำหรับช่วงฤดูแล้งถัดไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมอบมายให้จังหวัดทั้ง 4 จังหวัด ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์ เร่งขับเคลื่อนกระบวนการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง สำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณในแผนงานโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เตรียมความพร้อมให้สามารถดำเนินการได้ทันทีตามแผนที่กำหนด เพื่อให้การรับมืออุทกภัยและภัยแล้งมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
ด้าน นางพัชรวีร์ สุวรรณิก รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้มีความเสี่ยงที่อาจเกิดสถานการณ์อุทกภัยได้ ซึ่ง สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมแผนล่วงหน้าและดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและยับยั้งการเกิดเหตุ สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ ของจังหวัดศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 6,703 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมอยู่ที่ 1,360.06 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 52% ของความจุเก็บกัก ซึ่งมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 ซึ่งในพื้นที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันการระบายน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม สทนช. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประสานการปรับแผนการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งคาดการณ์ว่า ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ในพื้นที่ 4 จังหวัดข้างต้น จะมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีที่ไหลมาบรรจบรวมกับปริมาณน้ำในลำน้ำมูล ทำให้มีน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำตลอดแนวลำน้ำ อีกทั้งสภาพลำน้ำในชุมชนเมืองไม่สามารถระบายน้ำได้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีน้ำหลากไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ชุมชน สทนช. จึงได้วางแผนเตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย สำหรับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 แห่ง คือ ที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดนครพนม รวมทั้งเตรียมตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ด้วย เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล คาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำ พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งอำนวยการ ติดตามและตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถป้องกันและดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด