สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ห่วงใยสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์และเด็กทารก เน้นย้ำให้บริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมไอโอดีนอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะขาดสารไอโอดีน ซึ่งอาจส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาทของทารกในครรภ์ รวมถึงส่งผลให้เกิดโรคคอพอกและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในผู้ใหญ่
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ไอโอดีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย หากขาดไอโอดีนจะส่งผลให้ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อการพิการหรือปัญญาอ่อน และในผู้ใหญ่ก็อาจเกิดอาการคอพอก ผิวแห้ง เชื่องช้า หรือท้องผูกได้ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน อย. จึงออกกฎหมาย 4 ฉบับ กำหนดให้มีการเสริมไอโอดีนในผลิตภัณฑ์ปรุงรสสำคัญที่ประชาชนบริโภคเป็นประจำ หรือที่เรียกว่า “4 เค็มเสริมไอโอดีน” ได้แก่ 1. เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน 2. น้ำปลาเสริมไอโอดีน 3. น้ำเกลือปรุงอาหารเสริมไอโอดีน 4. ผลิตภัณฑ์ปรุงรสจากถั่วเหลืองเสริมไอโอดีน เช่น ซีอิ๊วหรือซอสถั่วเหลือง โดยผลิตภัณฑ์เกลือบริโภคต้องมีไอโอดีนในปริมาณ 20 – 40 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ส่วนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต้องมีปริมาณไอโอดีน 2 – 3 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm)
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ขอให้ประชาชนตรวจสอบฉลากอย่างละเอียด ควรมีข้อความระบุว่า ‘เสริมไอโอดีน’ พร้อมทั้งแสดงชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต วันหมดอายุ และเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ภายใต้กรอบเครื่องหมาย อย. เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย” ทั้งนี้ อย. ขอเน้นย้ำว่า แม้ไอโอดีนจะมีประโยชน์ แต่ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว