สอศ.ร่วมกับสถานประกอบการญี่ปุ่นสัมมนาทำฐานข้อมูลกำลังค้นรองรับอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

วันที่ 23 กันยายน 2562 ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนด้านอุตสาหกรรมของสถานประกอบการญี่ปุ่น เปิดเผยว่า กระทรวงศึกษาธิการ มีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะสาขาวิชาอุตสาหกรรมเป้าหมายเร่งด่วนของประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพกำลังคนให้มีศักยภาพพร้อมก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งการพัฒนากำลังคน จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการผลิตกำลังคนด้านอุตสาหกรรมจะต้องมีแนวคิดเชิงวิศวกร และมีทักษะ วิชาชีพอย่างแท้จริง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่าผู้ประกอบการ หรือนักลงทุนญี่ปุ่น เป็นนักลงทุนอันดับต้นๆ ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ดังนั้น การพัฒนากำลังคนให้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการญี่ปุ่นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งฐานข้อมูลความต้องการกำลังคนจากพวกท่าน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้กระทรวงศึกษาธิการได้นำมาเป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคน ทั้งการพัฒนาในรูปแบบการอบรมระยะสั้น และการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรในสายอาชีพ นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้มีความร่วมมือกับ National Institute of Technology (สถาบัน KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถาบันที่ผลิตกำลังคน ด้านอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่น ทั้งการจัดการศึกษาร่วมกัน การพัฒนาครู เทคโนโลยีทางการศึกษา รวมทั้งการสร้างนักศึกษาให้มีวัฒนธรรมแบบชาวญี่ปุ่น กระทรวงศึกษาธิการ และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ ในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งมีความร่วมมือกับกับสถานประกอบการเพื่อเป็นฐานการฝึกงานของนักศึกษาต่อไป

ด้านดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าการประชุมสัมมนาจัดทำฐานข้อมูลกำลังคนด้านอุตสาหกรรมของสถานประกอบการญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลความต้องการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการญี่ปุ่น ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อันจะนำไปสู่การวางแผนการผลิตกำลังคนให้มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง และการขอความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อใช้เป็นฐานในการเรียนและการฝึกงานของนักศึกษารูปแบบ Work Integrated Learning (WIL) แบบเข้มข้น ต่อไป รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ต่อเนื่อง 5 ปี) ตามมาตรฐานโคเซ็น ซึ่งเป็นหลักสูตรตามความร่วมมือกับ National Institute of Technology (สถาบัน KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น โดยได้จัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 ณ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา และวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จังหวัดชลบุรี

เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาครั้งนี้ ประกอบด้วยผู้แทนจากสถานประกอบการ จำนวน 40 สถานประกอบการ และผู้แทนจากสถานศึกษาในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จำนวน 20 สถานศึกษา รวมจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 200 คน และมีการจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์สถานประกอบการและสถานศึกษา จำนวน 60 แห่ง

//////////////////////////////////////

กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ. / 23 กันยายน 2562