สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา (Root cause analysis: RCA) กับมาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัย” ในโครงการพัฒนากลไกการจัดการคุณภาพบริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพและความปลอดภัย: 3P Safety Membership ประจำปีงบประมาณ 2568 ระหว่างวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2568 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ และผ่านระบบ online โดยมีตัวแทนโรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 3P Safety Membership ปี 2568 ที่รายงานอุบัติการณ์ระดับความรุนแรงส่งผลกระทบถึงผู้ป่วย ตามหมวดมาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัย จำนวนประมาณ 1,000 แห่ง
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสถานการณ์การรายงานข้อมูลอุบัติการณ์ในระบบ National Reporting and leaning System (NRLS) ต่อการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย บุคลากรสารธารณสุขและประชาชนในทุกระดับ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา หรือที่เรียกว่า Root Cause Analysis ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในส่วนกลางและผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีการรายงานอุบัติการณ์ระดับความรุนแรงที่ส่งผลกระทบถึงตัวผู้ป่วยขึ้นไป หรือในระดับ E อีกทั้งจะเป็นการระดมสมองร่วมกันเสนอการพัฒนาแนวทางปฏิบัติ การพัฒนาระบบหรือการพัฒนานวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบในการป้องกัน อุบัติการณ์ในสถานพยาบาลที่ป้องกันได้ หรือ Preventable Harms ที่สำคัญ ทั้งนี้เพื่อลด/ป้องกันอุบัติการณ์ ตามหัวข้อมาตรฐานสำคัญจำเป็นต่อความปลอดภัย 9 ด้าน
พญ.ปิยวรรณ กล่าวอีกว่า กิจกรรมในการสัมมนาครั้งนี้ ทุกอย่างคือการเรียนรู้ “การเรียนรู้ที่เพิ่มคุณค่าและมีความหมาย คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์” ซึ่ง 2 วันของการประชุมจะเริ่มจากการอัพเดททิศทางการขับเคลื่อน Patient Safety ทั้งในระดับและและประเทศไทย เกี่ยวกับ Patient Personnel and People Safety รวมทั้งการเรียนรู้ทำความเข้าใจการใช้ข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากระบบ NRLS การอัพเดทข้อมูล Top 10 รายงานอุบัติการณ์ในระบบ NRLS ในหมวดต่างๆ จากนั้นจะเป็นการเรียนรู้หลักการและแนวคิดและการกำหนดประเด็นการทำ Root cause analysis
นอกจากนี้ ยังมีเวทีย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และโรงพยาบาลในการออกแบบมาตรการป้องกัน และฝึกปฏิบัติการทำ RCA ในหัวข้อทั้งหมด 9 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.การเกิด Medication Errors 2.การติดเชื้อที่สำคัญตามบริบทขององค์กรในกลุ่ม SSI, VAP, CAUTI, CABSI 3.บุคลากรติดเชื้อจากการปฏิบัติหน้าที่ 4.การผ่าตัดผิดคน ผิดข้าง ผิดตำแหน่ง ผิดหัตถการ 5.การะบุตัวผู้ป่วยผิดพลาด 6.การรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ/พยาธิวิทยาคลาดเคลื่อน 7.การคัดแยกที่ห้องฉุกเฉินคลาดเคลื่อน 8.การให้เลือดผิดคน ผิดหมู่ ผิดชนิด และ 9.ความคลาดเคลื่อนในการวินิจฉัยโรค
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ Workshop แล้ว จะมีการรับฟังเสียงสะท้อนต่อแนวทางปฏิบัติและสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในภาพรวมอีกด้วย พญ.ปิยวรรณ กล่าว