นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ยาเสพติด ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง โดยมีการจับกุมคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน และเพื่อให้เจ้าหน้าที่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ในการดำเนินคดีตามกฎหมาย การตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการจึงมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการตรวจสารเสพติดในตัวอย่างของกลางและในปัสสาวะ ซึ่งจำเป็นต้องใช้วิธีการและเครื่องมือที่ได้มาตรฐาน รวมถึงบุคลากรที่มีความชำนาญ มีห้องปฏิบัติการที่มีสมรรถนะตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้พัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์เชิงปริมาณที่ครอบคลุมชนิดของสารเสพติดที่พบในพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังการนำพืชมาใช้ในทางที่ผิด เช่น กัญชาและกระท่อมซึ่งมักพบการใช้ร่วมกับยาบ้าและยาแผนปัจจุบัน และเชื่อมโยงกับปัญหาอาชญากรรมตามที่ปรากฏในข่าวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยอบรมและให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่ห้องปฏิบัติการเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความชำนาญของบุคลากรให้สามารถดำเนินการตรวจพิสูจน์ได้ตามระบบคุณภาพและมาตรฐานสากลในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการรายงานผลการตรวจ และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างเป็นธรรม
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำกระท่อมจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 52 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า ทุกตัวอย่างมีปริมาณสารไมทราไจนีนเกินกว่าค่าที่ อย. แนะนำ โดยมีความเข้มข้นอยู่ในช่วง 22.5 – 352.6 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 109.5 มิลลิกรัมต่อลิตร) นอกจากนี้ ยังพบน้ำต้มกระท่อมผสมยาแผนปัจจุบัน เช่น คลอเฟนิรามีน และไดเฟนไฮดรามีน รวมถึงสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างถึงร้อยละ 23.1 ได้แก่
อะซีทามิพริด (กลุ่มนีโอนิโคตินอยด์ ใช้ป้องกันและกำจัดเพลี้ย) และคาร์เบนดาซิม (กลุ่มเบนซิมิดาโซล ใช้ป้องกันกำจัดเชื้อรา) พบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์ม ร้อยละ 79.2 รองลงมาคือ ยีสต์และรา พบในสัดส่วนร้อยละ 59.6 และเชื้ออีโคไล ร้อยละ 19.2 ซึ่งบ่งชี้ถึงความไม่ปลอดภัยในการบริโภค แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการศึกษา ความเสี่ยงโดยตรงจากการบริโภคน้ำกระท่อมที่มีการผสมยาหรือปนเปื้อนสารเหล่านี้ แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ขอเน้นย้ำว่า การบริโภคน้ำกระท่อมที่มีปริมาณไมทราไจนีนสูง การปลอมปนยาแผนปัจจุบัน การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ หรือสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง หากบริโภคเป็นประจำและติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย และส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ยิ่งไปกว่านั้น การดื่มน้ำกระท่อมในบางกรณีอาจทำให้เกิดอาการมึนเมา และนำไปสู่ความรุนแรงหรือเหตุทะเลาะวิวาท
การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ฟื้นฟูความรู้และทักษะการตรวจสารเสพติดในปัสสาวะและน้ำต้มกระท่อมเบื้องต้น” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจการให้บริการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี และให้ข้อมูลทางวิชาการที่ผู้เข้าอบรมสามารถนำไปใช้ประกอบการดำเนินงานได้ เช่น เหตุผลและความจำเป็นของการจัดการวัตถุพยานที่ดี ระบบคุณภาพและมาตรฐานการตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ การนำส่งของกลาง กัญชา กระท่อมและบุหรี่ไฟฟ้า และฝึกปฏิบัติการตรวจหาสารไมทราไจนินในปัสสาวะและน้ำต้มกระท่อม ด้วยชุดทดสอบ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้รับบริการ ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 สำนักงานอัยการจังหวัดอุดรธานี กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลอุดรธานี สถานีตำรวจภูธรอุดรธานี และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อย่างเข้มข้น โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม 130 คน เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมมุขมนตรี โรงแรมเจริญโฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี