1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (128 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุดรธานี (76 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ราชบุรี (70 มม.) ภาคกลาง : จ.ชัยนาท (134 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (53 มม.) ภาคใต้ : จ.สุราษฎร์ธานี (74 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และอ่าวไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและด้านตะวันตกของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 18 -20 พ.ค. 68 ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทย รวมทั้งลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ที่พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางมีกำลังอ่อนลง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (44,344 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 35% (20,138 ล้าน ลบ.ม.)
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (17 พ.ค. 68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ระหว่างฝนทิ้งช่วงและในฤดูแล้งปีถัดไป ดังนี้
1. สทนช. ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและฝนทิ้งช่วง ตามที่ สทนช. คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม จะมีพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น คาดว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนกันยายนสูงสุดถึง 24 อำเภอ 142 ตำบล ซึ่งต้องมีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบและรัดกุม พร้อมเน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องล่วงหน้า และเมื่อเกิดเหตุต้องเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
2. กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยบริหารจัดการน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยวางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพียงพอกับความต้องการ และให้ความสำคัญกับการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก
3. จังหวัด กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เร่งซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำ บ่อบาดาล รวมถึงระบบประปาหมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบให้พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กำกับให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ รวมถึงจัดทำรายละเอียดเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 4 จังหวัด เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนปฏิบัติการและดำเนินการตามภารกิจที่สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย รวมถึงวางแผนการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งปีถัดไป โดย สทนช. จะติดตามผลการดำเนินการของมาตรการและประเมินสถานการณ์ฝนอย่างต่อเนื่อง พร้อมขับเคลื่อนการสร้างเครือข่ายด้านการบริหารจัดกาทรัพยากรน้ำ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างรวดเร็ว และสามารถเตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ