วันที่ 17 พฤษภาคม 2568 นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดชุมชนวัดห้วยปลากั้ง 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีพระไพศาลประชาทร วิ. (พบโชค ติสฺสวํโส) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง นายรุจติศักดิ์ รังษี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางรพีพร ทองดี ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนสุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนวัดห้วยปลากั้ง นางสินีนาฏ ทองสุข นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ชาวชุมชนวัดห้วยปลากั้ง และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ บริเวณลานอเนกประสงค์ พระโพธิสัตว์กวนอิม วัดห้วยปลากั้ง จังหวัดเชียงราย
ในโอกาสนี้ ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม และคณะ สักการะพระโพธิสัตว์กวนอิม ขนาดความสูง 69 เมตร และชมวิวทิวทัศน์จังหวัดเชียงราย 360 องศา ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการแสดงดนตรีพื้นเมือง การสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ การทอผ้าของชาวลาหู่ การเต้นจะคึ (ปอยเตเว) การละเล่นสะบ้า สาธิตงานจักสานไม้ไผ่ และการทำไม้กวาดของชาติพันธุ์ไทลื้อ ชิมอาหารพื้นบ้าน อาหารชาติพันธุ์ลาหู่/อาข่า/ไทลื้อ ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT และผลิตภัณฑ์ของชุมชนฯ นิทรรศการและสาธิตของหน่วยงานต่าง ๆ ตลอดจนมีมัคคุเทศก์พานั่งรถราง นำชมชุมชนวัดห้วยปลากั้ง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ในชุมชนวัดห้วยปลากั้ง
นายสถาพร กล่าวว่า การคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ได้คัดเลือกจากชุมชนที่มีศักยภาพมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติทั่วประเทศจาก 76 ชุมชนเหลือ 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 2564 จนถึงปัจจุบัน ตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม นำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนมาพัฒนาต่อยอด สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ซึ่งวันนี้นับเป็นโอกาสที่ดีและขอแสดงความยินดีแก่ชุมชนวัดห้วยปลากั้งเป็นชุมชนที่ประจักษ์พร้อมด้วยศักยภาพและความเข้มแข็งของคนในชุมชน วัด โรงเรียน อีกทั้งได้ขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง คนในชุมชนมีความรักความสามัคคี ร่วมกันอนุรักษ์สืบสาน รักษาและต่อยอดวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ได้อย่างดียิ่ง มีความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงเครือข่ายทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์งานอันยิ่งใหญ่ ร่วมแรง ร่วมใจ ผลักดัน ขับเคลื่อนงานท่องเที่ยวชุมชน ยลวิถี ได้สำเร็จ เป็นที่ยอมรับและเป็นหมุดหมายการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์
นายสถาพร กล่าวอีกว่า “เที่ยวชุมชนวัดห้วยปลากั้ง ยลวิถีพหุวัฒนธรรมชาติพันธุ์ล้านนา” เป็นคำขวัญชวนเที่ยวสัมผัสวัฒนธรรมที่น่าค้นหาและมีอัตลักษณ์ของชุมชน โดยชุมชนวัดห้วยปลากั้งเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงพหุวัฒนธรรม ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ อาทิ ลาหู่ ไทลื้อ อาข่า ละว้า (ลั้วะ) เป็นต้น นอกจากนี้ได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้เป็นสถานที่พักพิงของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ด้วยการอยู่ร่วมกันของกลุ่มคนที่หลากหลายนี้ เกิดการยอมรับภายใต้ความหลากหลายทางศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีอีกด้วย
ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนสามารถกราบสักการะเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากไม้จันทน์หอม ในพบโชคธรรมเจดีย์ (เจดีย์ 9 ชั้น) ชมโบสถ์สีขาวที่งดงามด้วยลวดลายปูนปั้นสุดอลังการ และสักการะเจ้าแม่กวนอิมสูง 69 เมตร ชมวิว 360 องศาซึ่งเป็นทัศนียภาพอันสวยงามของจังหวัดเชียงราย ที่สำคัญจะได้สัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์ อาทิ การแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ชมดนตรีพื้นเมืองของกลุ่มผู้สูงอายุ การสาธิตภูมิปัญญา ชิมอาหารชาติพันธุ์ อาหารพื้นเมือง และชมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกิจกรรมทางศาสนาและงานบุญต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ เครื่องจักสานจากไม้ไผ่ ไม้กวาดดอกหญ้า ผ้าทอและผ้าปักของกลุ่มชาติพันธุ์ และลิ้มลองอาหารพื้นเมือง อาหารชาติพันธุ์ เช่น น้ำเงี้ยว ข้าวแรมฟืน รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสชาติอร่อยจำหน่ายในราคาย่อมเยา เป็นต้น