สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 พ.ค. 68 เวลา 7.00 น.

1. ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.ลำปาง (97 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (56) มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (43 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (74 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ชลบุรี (68) มม.) ภาคใต้ : จ.นราธิวาส (158 มม.)

สภาพอากาศวันนี้ : ลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และอ่าวไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันและด้านตะวันตกของประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 18 -20 พ.ค. 68 ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมด้านตะวันตกของประเทศไทย รวมทั้งลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้ที่พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางมีกำลังอ่อนลง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 55% ของความจุเก็บกัก (44,404 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 35% (20,197 ล้าน ลบ.ม.)

3.ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เข้าร่วมประชุมหารือด้านทรัพยากรน้ำไทย–ออสเตรเลีย และการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไทย–ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 (Thailand-Australia Water Dialogue and Joint Steering Committee Meeting: JSC) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)

การประชุมหารือดังกล่าวเปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านน้ำของไทยร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและเครือรัฐออสเตรเลีย โดยมีการนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและการต่อยอดในสาขาที่ออสเตรเลียมีความเชี่ยวชาญ เช่น การจัดทำสมดุลน้ำและบัญชีน้ำ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านน้ำและการใช้แนวทางเชิงธรรมชาติลดความเสี่ยงอุทกภัย เพื่อยกระดับศักยภาพการจัดการทรัพยากรน้ำของไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ไทย-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 2 ได้ข้อสรุปแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MoU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือภัยแล้งและน้ำท่วม การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำแผนดำเนินงานระยะ 5 ปี เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในระยะยาว ต่อไป

4. มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 : สทนช. ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ดังนี้
กรมทรัพยากรธรณี จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 68 และ จ.ตาก เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 68 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย ตลอดจนเสริมสร้างกระบวนการความร่วมมือของชุมชน และบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ทำให้ลดผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดสัมฤทธิ์ผลให้มากที่สุด ตามมาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายในการติดตามเฝ้าระวังรับมือภัยด้านน้ำ